โชว์ แชร์ เชื่อม ใช้ สุขภาวะคนภาคกลาง

โชว์ แชร์ เชื่อม ใช้ สุขภาวะคนภาคกลาง thaihealth


สสส. จัดเวที สานงานเสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ ชูแนวคิด "โชว์ แชร์ เชื่อม ใช้ สุขภาวะคนภาคกลาง" แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดและนวัตกรรมงานสร้างเสริมสุขภาวะ นักวิชาการ เผย คนภาคกลางพฤติกรรมบริโภคเปลี่ยนไป กินผักผลไม้น้อยกว่ามาตรฐาน สะสมโรคเพียบ อ้วน ความดัน เบาหวาน ชี้ภาคีเครือข่าย สสส. เชื่อมโยงงานร่วมแก้ปัญหาได้


เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่โรงแรมราชศุภมิตร จ.กาญจนบุรี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดงานเวทีสานงานเสริมพลังร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ “โชว์ แชร์ เชื่อม ใช้ สุขภาวะคนภาคกลาง ”ว่า สสส. ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาวะดี ก้าวสู่ปีที่ 15 แล้ว โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศ ที่มีภาคีเครือข่ายร่วมทำงานกว่า 14,000 เครือข่าย/โครงการ เนื่องจากปัญหาสุขภาพมีความซับซ้อน การแก้ไขปัญหาไม่สามารถทำได้ด้วยหน่วยงานใดเพียงหนึ่งงานเดียว ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ด้วยการทำงานของ สสส. ที่คล่องตัว ทำให้สามารถเชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันได้ โดยมีพลังจากภาคีเครือข่ายร่วมหนุนเสริมการทำงาน การจัดเวทีสานงาน เสริมพลังฯ ภายใต้แนวคิด “โชว์ แชร์ เชื่อม ใช้ สุขภาวะคนภาคกลาง” “การโชว์” คือการนำเสนอผลงานของภาคีที่หลากหลาย “การแชร์” คือ การแบ่งปันข้อมูลความรู้และเครื่องมือต่างๆ “การเชื่อม” คือมองเห็นโอกาสในการทำงานร่วมกับภาคีอื่นๆ และ “การใช้” คือ นำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมเวทีไปปรับใช้กับงานตนเอง ในแต่ละพื้นที่ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น


ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ​ กล่าวว่า จากการประเมินลักษณะประชากรภาคกลาง พบว่า โครงสร้างประชากรมีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆด้าน ทั้งอาชีพที่เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมมาสู่ภาคแรงงานมากขึ้น ทำให้ความสามารถการผลิตอาหารด้วยตัวเองต่ำลง ต้องซื้ออาหารมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป คนภาคกลางรับประทานผัก ผลไม้ลดลงเมื่อเทียบกับภาคอื่น และปริมาณการรับประทานไม่ถึงค่ามาตรฐานคือ 400 กรัมต่อวัน ส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้นทั้งโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงกัน ประกอบกับมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ความต้องการการพึ่งพามากขึ้น ด้านเยาวชน ภาคกลางมีปัญหาแม่วัยรุ่นมากกว่าภาคอื่นๆ


 “ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยภาคีเครือข่ายของ สสส.ที่มีอยู่ในขณะนี้ มีการขับเคลื่อนในแต่ละประเด็นเกือบครบทุกด้าน ทั้งเยาวชน แรงงาน ผู้สูงอายุ เช่น การสร้างเศรษฐกิจชุมชน ประเด็นด้านอาหารปลอดภัย การรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เช่น ลดหวาน มัน เค็ม และงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งภาคีเครือข่ายต่างๆ สามารถร่วมกันวางแนวทางเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้เกิดความเชื่อมโยง การแบ่งปันองค์ความรู้ และร่วมกันลงมือปฏิบัติก็จะสามารถนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ” ดร.เดชรัตน์ กล่าวว่า


ดังนั้น ภายในงานจึงมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด และนวัตกรรมของการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อนำไปสู่การประยุกต์และลงมือปฏิบัติการในพื้นที่หรือประเด็นตนในบริบทที่เหมาะสม  เป็นการขยายฐานผู้รับประโยชน์จากองค์ความรู้การดำเนินงานของ สสส. โดยมีการนำเสนอครอบคลุมประเด็นสุขภาพ 9 ด้าน ได้แก่ 1.ปัจจัยเสี่ยงหลัก (บุหรี่ เหล้า อุบัติเหตุ การพนัน) 2.อาหารเพื่อสุขภาวะ 3.สุขภาวะทางเพศ/ครอบครัว 4.พื้นที่สุขภาวะ (ภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม) 5.สุขภาวะองค์กร 6.ผู้สูงอายุ 7.เศรษฐกิจ (ชุมชน/ตำบลสุขภาวะ วิสาหกิจชุมชน) 8.การศึกษา และ 9.สื่อสารสังคม ให้มีความรู้ เข้าใจ และปรับทัศนคติที่ถูกต้อง โดยมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี


 


ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจาก เครือข่ายนักสร้างสุขภาวะองค์กร

Shares:
QR Code :
QR Code