โคแฟค เครือข่ายออนไลน์ ดึงสังคมตรวจสอบข่าวลวง

ที่มาและภาพประกอบ : แนวหน้า


โคแฟค เครือข่ายออนไลน์ ดึงสังคมตรวจสอบข่าวลวง thaihealth


ปัจจุบันจะมีสักกี่คนที่ไม่ใช้สื่อออนไลน์หรือไม่มีตัวตนในสังคมเสมือน เมื่อสื่อใหม่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยผ่านหลากหลายเครื่องมือทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเลต โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน เทคโนโลยีทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วและกว้างขวาง แต่ขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งหนึ่งในปัญหาสำคัญอย่าง “ข่าวปลอม-ข่าวลวง (Fake News)” ทำให้ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการให้ความรู้และเน้นย้ำ “เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์” เพื่อจะได้ไม่ร่วมเป็นผู้กระจายข่าวปลอมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ธนาคารจิตอาสามูลนิธิฟรีดิช เนามัน (Friedrich Naumann Foundation) และภาคีเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง จัดงานเสวนานักคิดดิจิทัลครั้งที่ 11 เปิดตัวโคแฟค “ทำไมความจริงร่วมจึงสำคัญ” เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน ส.ส.ส.กล่าวถึงที่มาที่ไปของงานครั้งนี้ว่า ประเทศไทยมีสถานการณ์การระบาดของข่าวลวง อาทิ การหลอกขายสินค้า


“แนวทางการแก้ปัญหาและหยุดยั้งการระบาดของข่าวลวงในยุคชีวิติวิถีใหม่ (New Normal) จึงจำเป็นต้องมีกลไกกลางเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน โดยจุดประกายด้วยนวัตกรรม โคแฟค (Collaborative Fact Checking : Cofact) บนเว็บไซต์ cofact.org และไลน์ @cofact พร้อมสานพลัง


ขับเคลื่อนสังคมขยายผู้ใช้ไปยังภาคีเครือข่ายเกิดเป็นชุมชนโคแฟค สร้างค่านิยมใหม่โดยใช้พลังพลเมืองในการร่วมตรวจสอบข่าวลวงที่ทุกคนสามารถเป็น fact cheker เกิดพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงประเด็นสุขภาวะร่วมกัน” ผู้จัดการกองทุน ส.ส.ส. กล่าว


ขณะที่ ธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา ระบุว่าปัจจุบันข่าวลวงมีหลากหลายรูปแบบ ประชาชนไม่ทันได้ตรวจสอบข้อมูล การมีจิตอาสาที่เข้าร่วมกระบวนการตรวจเช็คข่าวลวงจึงจำเป็นจะต้องมีทักษะทั้ง 2 ด้าน คือ “ด้านตรรกะความคิดในการตรวจสอบข่าว-ด้านทักษะในการสะท้อนคิด เข้าใจและเท่าทันตัวเอง” การปฐมนิเทศครั้งแรก ธนาคารจิตอาสามุ่งต่อยอดสู่การสร้างจิตอาสาที่เป็นกำลังสนับสนุนที่แข็งแรง ทั้งในด้านการเช็คความจริงของข่าว และการดูแลคนแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากข่าวลวง


มุมมองจากนักวิชาการณภัทร เรืองนภากุล รองคณบดีคณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้และผู้ประสานงานเครือข่ายโคแฟคภาคเหนือ กล่าวว่า ผลกระทบของข่าวลวงต่อชีวิตนั้นเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก ข้อมูลลวงที่ถูกผลิตซ้ำๆ จะทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เราต่างทราบกันดีว่าพลังของพลเมืองนั้นมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านสังคม


“กลไกของโคแฟคตอบโจทย์ทั้งการเก็บข้อมูลและการมีส่วนร่วม เหมาะสมกับวิถีของคนยุคดิจิทัล จึงเชื่อว่าการเข้าร่วมเป็นจิตอาสาเครือข่ายโคแฟค (ภาคเหนือ) จะทำให้ทุกพื้นที่ได้ฝึกการใช้วิจารณญาณ เปิดใจรับความเห็นต่าง ร่วมกันตรวจสอบข่าวลวง ทำให้สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมที่รู้เท่าทันสื่อส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินวิถีชีวิตต่อไป” อาจารย์ณภัทร กล่าว


อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สุภิญญา กลางณรงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค กล่าวว่า โคแฟคเป็นนวัตกรรมทางสังคมในการนำแอพพลิเคชั่นไลน์ แชทบอท และฐานข้อมูลในเว็บไซต์ มาช่วยตรวจสอบข้อมูลว่าจริงหรือลวง แต่การจะขับเคลื่อนกลไกโคแฟคให้สำเร็จได้จริงนั้น จึงต้องขยายงานจากการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ไปสู่การสร้างชุมชนเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง


ถือเป็นภารกิจการปฏิรูปสื่อในยุคดิจิทัลที่หันกลับมาสร้างความเข้มแข็งในภาคพลเมือง ให้การแก้ไขข่าวลวงด้วยหลักวารสารศาสตร์ เช่น การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อนเสมอ กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของสังคม ทั้งนี้ โคแฟค เชิญชวนทุกท่านให้มาเป็นชาวชุมชนคนโคแฟคร่วมกันค้นหาความจริง เพื่อสร้างสุขภาวะของสังคม สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.cofact.org

Shares:
QR Code :
QR Code