โควิดทำให้อ้างว้าง คนข้าง ๆ จึงสำคัญ

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก รายการเพื่อนกันวันติดโควิด ประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ช่วงกำลังใจจากเพื่อนถึงเพื่อน และเว็บไซต์ Young Happy  


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ


โควิดทำให้อ้างว้าง คนข้าง ๆ จึงสำคัญ thaihealth


โควิด -19 ที่แพร่ระบาดอยู่ ณ ขณะนี้ ไม่เพียงแต่ทำลายระบบสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำลายสภาวะความสุข ความสงบทางด้านจิตใจอีกด้วย เป็นเหตุให้หลายคนต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต เกิดความเครียดต่าง ๆ มากมาย และหากไม่รู้วิธีการจัดการ หรือรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง ก็อาจนำมาซึ่งความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นได้ในที่สุด


ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับกลุ่มคนตัว D และภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด”  จัดทำสื่อฟื้นฟูสุขภาวะผู้ป่วยและคนใกล้ชิดในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยพัฒนาช่องทางสื่อออนไลน์ ผ่านช่องรายการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด” เพื่อฟื้นฟูสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่เหมาะสมแก่คนไทย โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาตัวด้วยระบบ Home-Community isolation และสมาชิกในครอบครัว รวมถึงผู้ดูแลผู้ติดเชื้อด้วย


โดยหวังให้พื้นที่ตรงนี้ทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลความรู้ ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจจากเพื่อนถึงเพื่อน เพื่อให้คนไทยทุกคนผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ไปได้อย่างปลอดภัย


รศ.นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คนเรามักรู้สึกอ้างว้าง เพราะอยู่ห่างจากคนอื่น แต่ในบางครั้งคนเราก็รู้สึกอ้างว้าง เพราะอยู่ใกล้กับคนอื่นมากเกินไป นั่นเพราะเราไม่คุ้นกับการอยู่กับอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นความเหงา ความเศร้า และคิดว่าเป็นสภาวะที่จะต้องหลีกหนี หรือกำจัดให้หมดไป โดยทั่วไปแล้วคนเราจะมีความต้องการอยู่สองลักษณะ คือ ต้องการการยอมรับ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และความต้องการมีพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งความต้องการทั้งสองลักษณะนี้ จะต้องหาสมดุลให้เจอ จึงจะสามารถประคับประคองจิตใจให้อยู่ได้อย่างมีความสุขในสภาวะเช่นนี้  


เราทุกคนต่างมีพื้นที่ในใจที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้น เราจึงควรฝึกตัวเอง ดูลมหายใจอย่างมีสติ รับรู้สภาวะในปัจจุบัน แล้วเราจะเริ่มเคยชินว่า ความรู้สึกพวกนี้เกิดขึ้นแล้วเดี๋ยวก็หายไป แล้วอารมณ์อื่นก็จะเข้ามาแทนที่ ทุกอย่างเป็นเพียงสภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป” รศ.นพ.ชัชวาลย์ กล่าว


โควิดทำให้อ้างว้าง คนข้าง ๆ จึงสำคัญ thaihealth


ความใกล้ชิดสนิทสนมที่มากเป็นพิเศษ อาจทำให้เราเผลอทำร้ายจิตใจกันง่ายขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าเรามักจะใส่ใจความรู้สึกของคนใกล้ตัวน้อยกว่าคนทั่วไปนั่นเอง จึงไม่แปลกที่หลายครอบครัวมักเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันมากขึ้นในช่วงที่ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านร่วมกัน วันนี้เรามีเทคนิคดี ๆ ในการสื่อสารและดูแลรักษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมาฝาก เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจของสมาชิกในครอบครัวให้มากขึ้นในช่วงวิกฤตนี้


1.ใช้ I-Message แทน You-Message


I-Message คือ การสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตัวเองโดยตรง หลีกเลี่ยงการพูดถึงผู้ฟัง ส่วน You-Message คือการกล่าวถึงการกระทำของคู่สนทนา ซึ่งการสื่อสารลักษณะนี้อาจทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกว่ากำลังถูกตำหนิอยู่และนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการให้คนในครอบครัวเก็บกรรไกรเข้าที่ แทนที่จะพูดว่า ‘กะอีแค่เก็บกรรไกรให้เข้าที่ เรื่องง่ายๆ แบบนี้ทำไม่ได้หรือไง’ ลองเปลี่ยนเป็น ‘เก็บกรรไกรตรงนี้นะ จะได้หยิบง่ายๆ หลังใช้เสร็จช่วยเก็บเข้าที่เดิมด้วยนะจ๊ะ’  วิธีพูดแบบนี้จะช่วยให้ลดโอกาสในการปะทะอารมณ์กับคนในครอบครัวลงได้ 


2.หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดดูถูกซึ่งกันและกัน


ไม่มีใครชอบการโดนดูถูก แต่หลายครั้งที่เราเผลอพูดดูถูกคนใกล้ตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการพูดโดยไม่ให้เกียรติ ประชดประชัน หรือการแสดงสีหน้าท่าทางต่าง ๆ ที่สร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับคู่สนทนา ซึ่งการทำกิริยาแบบนี้บ่อยครั้ง อาจนำไปสู่ความร้าวฉานภายในครอบครัวได้


3.ทำความเข้าใจ ชื่นชม และให้กำลังใจกัน


ในสถานการณ์ที่ต้องอยู่ร่วมกันในบ้านเป็นระยะเวลานาน ๆ การปรับตัวและความเครียดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การกระทบกระทั่งกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า คนเหล่านี้คือคนที่เรารักและรักเรา และเขาไม่ใช่ที่รองรับอารมณ์ของเรา ลองถามตัวเองดูว่า อยากอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วยความรู้สึกอย่างไร ลองเปิดใจ ทำความเข้าใจภาระหน้าที่ของแต่ละคน เห็นใจกันและกัน ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง พยายามชื่นชมและขอบคุณคนในครอบครัว เวลาที่เขาทำสิ่งดี ๆ ให้กับเรา


คุณอรุณชัย นิติสุพรรัตน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม I SEE U กล่าวว่า หากเรามีปัญหา หรือรู้สึกไม่พอใจในจุดใดก็ตาม เราสามารถที่จะบอกความรู้สึก หรือสื่อสารออกไปให้อีกฝ่ายรับรู้ได้  ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น เกิดการปรับตัวของทั้งสองฝ่าย เป็นการหาสมดุลในการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน หรือมีปฏิสัมพันธ์กันให้ดียิ่งขึ้น โดยอาจเริ่มจากการคุยในเรื่องที่เขาสนใจก่อน แล้วสื่อสารออกไปด้วยความจริงใจ ถามเขาบ่อย ๆ และรับฟังความรู้สึกของเขา จับใจความอะไรได้ ก็สะท้อนออกไปให้เขารับรู้ เป็นการฝึกทักษะการฟังด้วยหัวใจ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นผลทำให้เขามีความรู้สึกบางอย่างร่วมกับเรา และพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังเราเช่นเดียวกัน ทักษะพวกนี้เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา


“บางครั้งเราให้ความสำคัญกับเรื่องของภาษามากเกินไป ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วภาษาพูดนั้นทำงานได้มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด ในขณะที่ภาษากายนั้นสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การสบตา ล้วนเป็นเครื่องมือที่ดีในการสร้างความเข้าใจ และเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น” คุณอรุณชัย กล่าว


โควิดทำให้อ้างว้าง คนข้าง ๆ จึงสำคัญ thaihealth


ถึงแม้จะเป็นคนในครอบครัว คนรัก หรือคนใกล้ชิด ก็ใช่ว่าจะมีความเข้าใจกันในทุกเรื่อง และเข้าใจกันได้ตลอดเวลา ดังนั้น การค่อย ๆ เรียนรู้ พยายามทำความเข้าใจความรู้สึก ความต้องการทั้งในส่วนของตัวเอง และในส่วนของคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนที่เป็นคนในครอบครัว หรือคนที่อยู่ในบ้านเดียวกัน จะช่วยให้เราสื่อสารกันได้ และประคับประคองทั้งความสัมพันธ์ และจิตใจร่วมกันไปได้ทั้งสองฝ่าย ความสัมพันธ์อาจดูเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อน แต่ทุกอย่างเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการยอมรับ ค่อยๆ ฝึกฝน และขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะสามารถผ่านพ้นปัญหาทุกอย่างไปได้ด้วยกัน


การสร้างเสริมสุขภาวะทางด้านจิตใจ เป็นหนึ่งในมิติสุขภาพที่ สสส. ให้ความสำคัญ ในการดูแล พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาความเครียด นำไปสู่การสร้างสมดุลในชีวิต ให้มีจิตใจที่แข็งแกร่ง ควบคู่กับร่างกายที่แข็งแรง มีสติ มีกำลังใจ พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาและวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น


โควิดทำให้อ้างว้าง คนข้าง ๆ จึงสำคัญ thaihealth


ผู้สนใจรับชมรายการ “เพื่อนกัน วันติดโควิด” สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/HomeIsolationFriends ช่องยูทูบ เพื่อนกันวันติดโควิด และ AIS Play                                                                 ตั้งแต่เวลา 15.00-21.00 น. ของทุกวัน ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564

Shares:
QR Code :
QR Code