“โคราช” ร่วมใจ…ต้านภัยหวัด 2009
กิ่งไม้ท่อนเดียว ย่อมใช้มือหักได้ง่าย ๆ แต่ถ้ากิ่งไม้หลายท่อนมารวมกัน ก็ยากยิ่งที่จะใช้มือหักได้โดยง่าย…คำคมนี้ คงใช้ได้ดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” ที่คณะอนุกรรมการสนับสนุนการป้องกัน ควบคุมและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1) 2009 เดินหน้าผนึกกำลังภาคี เพื่อหาแนวร่วมมาช่วยกัน “รบ” ในยามที่ประเทศต้องประกาศสงครามกับเจ้าหวัด 2009 ที่ยกพลมาต่อตีกับประชาชนชาวไทยอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่ากระแสการแพร่ระบาดของ “หวัด 2009” จะถูกลดความสำคัญลง อันเนื่องมาจากนิสัย “ลืมง่าย” ของคนไทย ทำให้หลายต่อหลายคนละเลยต่อการดูแลสุขอนามัยของตนเอง จนเกิดการคาดการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขว่า อาจเกิดการระบาดของ หวัด 2009 ระลอก 2 ขึ้น โดยเฉพาะจะมีการระบาดขึ้นเป็นวงกว้างจากเมืองสู่ชนบท ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดดังกล่าว จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการร่วมใจกันรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนและบุคลากรในหน่วยงานของตนเอง โดยมียุทธศาสตร์หลักร่วมกัน คือ “รวมพลังไทย…สู้ภัยหวัด 2009”
ล่าสุด คณะอนุกรรมการฯ หวัด 2009 นำโดย นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานอนุกรรมการฯ หวัด 2009 ได้ร่วมประชุมความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารในระดับตำบล และอำเภอ ตบเท้าเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.มงคล เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้ มีการประมาณการว่าคนไทยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้วไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจัดอยู่ในช่วงขาขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ในพื้นที่หลายๆ จังหวัด อาทิเช่น เชียงใหม่ นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด และระนอง มีแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคที่พุ่งสูงขึ้น
“ทั้งนี้ เราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการช่วยกันรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ หวัด 2009 เพราะเป็นหน่วยราชการที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลดอนชมพู ซึ่งถือว่ามีจุดแข็งที่ “ความสามัคคี” ชาวบ้านทุกคนต่างร่วมมือร่วมใจกันรณรงค์ และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จุดนี้สำคัญอย่างมากในการที่จะช่วยให้ชาวบ้านในดอนชมพูปลอดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นอกจากนี้ “ผู้นำ” ในท้องถิ่นจะต้องออกมาช่วยกันกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักถึงพิษภัยของหวัด 2009 เพราะไม่มีใครบังคับให้ใคร ป้องกันตัวเองด้วยการล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ไปชุมนุมในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมากได้ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดจากตัวของประชาชนเองที่ตระหนักในการดูแลป้องกันตัวเอง” ประธานคณะอนุกรรมการฯ หวัด 2009 กล่าว
ประธานคณะอนุกรรมการฯ หวัด 2009 เล่าต่อว่า ลักษณะการแออัดของประชากรในต่างจังหวัดจะน้อยกว่ากรุงเทพฯ และการรวมกลุ่มทำกิจกรรม อาทิเช่น คอนเสิร์ต หรือการประชุมที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงก็มีไม่มากนัก เพราะฉะนั้น การแพร่ระบาดในต่างจังหวัดโอกาสที่จะเกิดขึ้นรวดเร็วมีน้อย แต่พื้นที่เสี่ยงในการแพร่ระบาดเชื้อของคนต่างจังหวัดมี 2 จุดสำคัญ ได้แก่ โรงเรียน และบ้าน เนื่องจากนักเรียนจะติดเชื้อจากเพื่อนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง จากนั้นนักเรียนก็จะแพร่เชื้อต่อให้กับคนในครอบครัว
“สิ่งที่น่ากังวลและกลัวมากที่สุด คือ อีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นช่วงหน้าหนาว อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ในระลอกที่ 2 แต่จะเป็นการระบาดที่เกิดขึ้นจากภายในประเทศ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อที่มาจากต่างประเทศผ่านพ้นไปแล้ว การแพร่ระบาดระลอก 2 จะเกิดในลักษณะหมุนวนกลับจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ หรือจากชนบทเข้าเมืองอย่างรวดเร็ว และจำนวนคนป่วยจะมากขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติของการแพร่ระบาดของโรค เมื่อในพื้นที่ต่างจังหวัดมีจำนวนผู้ป่วยหนาแน่น เชื้อก็จะหมุนหวนกลับเข้ามาเมืองใหม่ อย่าไปคิดว่าที่เกิดในระลอกแรกทำให้คนในเมืองเกิดภูมิคุ้มกันหมดแล้ว ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันโรคนี้” นพ.มงคล กล่าวด้วยความกังวล
โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ หวัด 2009 ได้ลงพื้นที่ดูงานในตำบลดอนชมพู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในเรื่องของการรณรงค์
นายพีระ ศรีศศิวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนชมพู จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า ปัจจัยที่ทำให้ชาวดอนชมพูมีความเข้มแข็งในเรื่องของการรณรงค์นั้น มาจากการที่อำเภอด้านข้าง หรืออำเภอพิมาย มีคนเสียชีวิตด้วยโรคหวัด 2009 ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เพราะรับรู้ได้ว่า โรคนี้ ไม่ใช่โรคที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นโรคที่ใกล้ตัวทุกคนที่สุด ทำให้ชาวบ้านเกิดการตื่นตัวมากขึ้นและร่วมมือกันเฝ้าระวังโรคนี้มากขึ้น
“ทาง อบต.จึงอาศัยจังหวะนี้ในการประชุม หารือกับสาธารณสุขจังหวัด สถานีอนามัย อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อร่วมกันหาทางรับมือ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี จากนั้นจึงวางกำลังการรณรงค์ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.กำลังของ “อสม.” ที่ได้รับการอบรมความรู้จากสาธารณสุขจังหวัด และแบ่งการดูแลชาวบ้านของ อสม.ออกเป็น 2 คนต่อ 10 หลังคาเรือน โดย อสม.จะเข้าไปเคาะประตูบ้านแต่ละหลังเพื่อให้ความรู้ และสาธิตการป้องกันโรคหวัด 2009 อาทิ วิธีล้างมือ 7 ขั้นตอน การใช้เจล การใส่หน้ากากอนามัย 2.กำลังของ “เสียงไร้สาย” ซึ่งเป็นวิทยุชุมชน ออกอากาศทุกวัน และมีดีเจนำเรื่องราวเกี่ยวกับหวัด 2009 มาเล่าสู่กันฟัง ตั้งแต่ความเป็นมา การป้องกัน การรักษา ฯลฯ พูดซ้ำอย่างนี้ทุกวัน ไม่ว่าชาวบ้านจะล้างจาน ซักผ้า ทำการเกษตรอยู่ก็จะได้ยิน และเกิดการซึมซับในที่สุด” นายก อบต.ดอนชมพู กล่าวอธิบาย
ไม่เพียงแต่เกิดการซึมซับเท่านั้น นายก อบต.ดอนชมพู ยังบอกอีกว่า ชาวบ้านที่ได้รับความรู้ จะนำสิ่งที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อลูก หลาน คนในครอบครัว และร่วมกันรับผิดชอบต่อชุมชน โดยการรักษาสุขอนามัยของตนเอง หรือเมื่อรู้สึกว่าเป็นหวัด ก็จะพักผ่อนอยู่ในบ้าน และสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออีกด้วย
ในด้านของโรงเรียนที่คณะอนุกรรมการฯ หวัด 2009 เป็นกังวลนั้น นางอมรรัตน์ พันธุ์เพ็ง ข้าราชการครูโรงเรียนบ้านส้มมิตรภาพที่ 93 ต.ดอนชมพู เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่สุดในต่างจังหวัดนั้น ทางสถานีอนามัยจะทำการจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับหวัด 2009 ให้กับคุณครูทุกคน จากนั้นคุณครุจะทำหน้าที่ในการให้ความรู้กับนักเรียนหน้าเสาธง และสอนให้นักเรียนสามารถดูแลสุขอนามัยของตัวเองได้
“คุณครูประจำชั้น ก็จะนำนักเรียนไปสาธิตการป้องกันตัว เช่น การสวมหน้ากากที่ถูกวิธี และการล้างมือ 7 ขั้นตอน โดยให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริงทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีการเรียกประชุมผู้ปกครอง เพื่อให้ความรู้ และแนะนำวิธีดูแลบุตรหลานในกรณีที่บุตรหลานยังเล็กหรืออยู่ในชั้นอนุบาล ในส่วนของมาตรการทำความสะอาด ทางโรงเรียนจะจัดให้มีการทำความสะอาดทุกวัน โดยครูและนักเรียนจะช่วยกันทำความสะอาดโรงเรียน เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็ก ๆ รักความสะอาด และหวงแหน อยากที่จะดูแลพื้นที่ที่ตนได้รับผิดชอบได้อีกด้วย” นางอมรรัตน์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
อย่างไรก็ตาม การจับมือกันในครั้งนี้ ของ คณะอนุกรรมการฯหวัด 2009 และ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของหวัด 2009 แต่การจับมือกันในครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากประชาชนในการช่วยกันดูแลสุขอนามัยของตนเอง เพียงแค่ยึดหลักง่าย ๆ…กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และออกกำลังกาย เพียงเท่านี้ เราก็สามารถร่วมกันหยุดการระบาดของ “หวัด 2009” ไม่ให้รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นได้แล้ว…^^
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย : นพรัตน์ นริสรานนท์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 01-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์