โครงงานวิทย์ กระตุ้นเด็กไทยใส่ใจวิทยาศาสตร์

เสริมสร้างสุขภาพดี ให้ตนเอง ครอบครัว และชุมชน

 

 โครงงานวิทย์ กระตุ้นเด็กไทยใส่ใจวิทยาศาสตร์

          จากโครงงานวิทยาศาสตร์ ที่ใครหลายคนอาจได้เคยลองทำสมัยใส่ขาสั้นคอซอง และบางคนอาจมองว่า “เป็นเรื่องยากและซับซ้อน” หรือ “ใกล้ตัว” จนท้อใจ เพราะนึกว่าชีวิตนี้คงไม่มีความคิดสร้างสรรค์ทำโครงงานกับเขาได้

 

          แต่ปัจจุบัน โครงงานวิทยาศาสตร์กำลังขยับเข้ามาใกล้ตัวเด็กนักเรียนไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะในชนบทห่างไกลแค่ไหนโดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพอนามัย ที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ว่า ระบบประกันสุขภาพดีพอหรือไม่ ต้องหางบประมาณรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่างๆ อีกกี่พันล้าน แทนที่จะแก้ที่ต้นเหตุว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดี แข็งแรงขึ้น

 

          ความร่วมมือนำร่อง “โครงการวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า” จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้จับมือกันเพื่อนำร่องให้โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ขาดโอกาสหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสเข้าร่วม

 

          หลังจากที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ได้มีการอบรมครูแกนนำระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ปลาย จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนครูและนักเรียนที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ มากกว่า 2,000 คน โดยมากรับผิดชอบทางด้านวิทยาศาสตร์ สุขศึกษาและพลศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องสุขภาพอนามัย เช่น ความรู้ในกลุ่มอาหาร กลุ่มการแพทย์ ที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพ กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และการทำโครงงานเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยในท้องถิ่น และแบบประเมินพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ

 

          อาจารย์วัชรี เหมืองจา หนึ่งครูแกนนำที่เข้าร่วมในโครงการจากโรงเรียนถิ่นโอภาสวิทยา จ.แพร่ กล่าวในการสัมมนาสรุปโครงการในเขตภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ว่ามีนักเรียนให้ความสนใจเข้าร่วมในกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการทำโครงงานเป็นจำนวนมาก นักเรียนมีความสุขที่ได้เข้าร่วม ก็ทำให้ครูมีกำลังใจในการทำงาน และยังได้ผลที่ดี คือ มีโครงการเกิดขึ้นถึง 33 โครงงาน

 

          จนถึงเดือนตุลาคม มีโรงเรียนจัดกิจกรรมค่ายไปแล้ว 117 โรงเรียนพร้อมผลที่ได้คือ โครงงานกว่า 500 โครงงาน เช่น โครงงานทำไอศกรีมสมุนไพร ทำเครื่องบรรจุอากาศสุญญากาศ ทำถังขยะไร้มดจากดินจอมปลวก และโครงงานหาปรสิตในปลาน้ำจืด ซึ่งคนท้องถิ่นมักจะบริโภคและเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บจากปรสิตและโครงงานอื่นๆ ที่โดยมากมักสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว และวิถีชีวิตของนักเรียนในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ

 

          นอกจากนั้น ทางโครงการยังได้อบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครู ตามหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้ความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และยังให้ทุนสนับสนุนการจัดกิจกรรมค่ายโครงงานวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า ให้กับครูแกนนำแต่ละโรงเรียน เพื่อนำไปดำเนินงานแก่นักเรียน

 

          คุณครูที่มาร่วมในการสัมมนาสรุปต่างกล่าวว่า การสนับสนุนจากทางโครงงานทำให้ทั้งนักเรียนและครูมีกำลังใจ และทำให้การพัฒนาโครงงาน “เป็นจริง” ได้มากขึ้น เนื่องจากแต่ก่อน แม้ครูจะพยายามสนับสนุนให้นักเรียนทำ แต่ก็ติดขัดด้วยปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งในปัจจุบันโครงงานหลายชิ้นก็เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วยไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ผลทางตรงที่สุด ก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียน

 

          อาจารย์พวงทอง ชมภูมิ่ง จาก โรงเรียนสา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เล่าว่า “นักเรียนได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม ยอมรับความคิดเห็นของกันและกันมากขึ้น บางทีเปิดเพลงไป ถกเถียงกันเรื่องโครงงานไปไม่จำเป็นต้องคร่ำเคร่ง บางครั้งเราเองก็ต้องยอมรับว่าเด็กเก่งกว่าเราด้วย เห็นได้จากการที่เขาคิดและทำโครงงาน”

 

          ด้วยการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานร่วมจัด โรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน ทำให้โครงการนี้เตรียมที่จะขยายไปในระยะที่สอง

 

          คุณชายกร สินธุสัย ผู้จัดการโครงการวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า สสส. กล่าวถึงผลจากโครงการในระยะแรกว่า “ในแง่ของผู้เข้าร่วมโครงการแล้วเกินเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ครู นักเรียน แต่ก็มีบางส่วนที่อยากพัฒนามากขึ้น ทั้งเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มเดิมและขยายไปยังกลุ่มใหม่ และรู้สึกประทับใจครูส่วนใหญ่ที่เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งความมุ่งมั่น ตั้งใจในส่วนที่เขาขาดเราก็จะช่วยเติมให้”

 

          “โครงการนี้ มุ่งหมายว่าจะได้เป็นส่วนที่ช่วยปรับทัศนคติของคนไทย ที่มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว จึงพยายามผลักดัน เชื่อมโยงให้คนไทยเข้าใจว่า เทคโนโลยี คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น แห อวน เพื่อใช้หาปลา วิทยาศาสตร์คือวิถีชีวิต คือเหตุผล ธรรมชาติ ข้อเท็จจริง อย่าง สสส. ที่มองว่าวิถีชีวิตคือเรื่องสุขภาพ ซึ่งก็คือเรื่องวิทยาศาสตร์ โครงการนี้จึงเป็นการสร้างระบบสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นฐานวิทยาศาสตร์เป็นตัวผลักดัน”

 

          โครงการนี้ กำลังเตรียมการเพื่อขยายการดำเนินงานในระยะที่สอง ซึ่งน่าจะมีโครงงานดีๆ อีกมากมายหลายชิ้น ที่จะช่วยให้เด็กไทยเข้าใกล้วิทยาศาสตร์มากขึ้นและเสริมสร้างสุขภาพที่ดีของทั้งตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ต่อไป

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 18-11-51

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code