โครงการ `๑ อ่านล้านตื่น` หนุนบริจาคหนังสือ พร้อมมอบทุนพื้นที่ขาดแคลน
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
"๑ อ่านล้านตื่น" โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย พร้อมภาคีเครือข่าย จัดพิธีและมอบรางวัล ประกาศผลบุคคลต้นแบบ "๑ คนชวนอ่าน ล้านคนตื่นรู้" ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 พร้อมย้ำการบริจาคหนังสือ ต้องมอบหนังสือดีมีคุณภาพ และตรงความต้องการของผู้รับ เร่งผลักดัน "โครงการหนังสือตรงใจ" เพื่อมอบโอกาสให้พื้นที่ที่ขาดแคลนหนังสือ ได้นำเงินไปซื้อหนังสือที่ตรงความต้องการ
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 60 โครงการ "๑ อ่านล้านตื่น" โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย พร้อมภาคีเครือข่ายสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กระดาษถนอมสายตากรีนรี้ด โดย บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรอชั่น จำกัด (มหาชน) และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดพิธีประกาศเกียรติคุณ และมอบรางวัลบุคคลต้นแบบ "๑ คนชวนอ่าน ล้านคนตื่นรู้" ซึ่งจัดติดต่อกันมาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จะได้รับทุนการสนับสนุน เพื่อเลือกซื้อหนังสือในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 จำนวน 30,000 บาท ได้แก่ นายอดิศักดิ์ คัมภีระ จาก จ.อุบลราชธานี และรองชนะเลิศ 3 ท่าน จะได้รับเงินสนับสนุนซื้อหนังสือในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 จำนวน 10,000 บาทถ้วน ได้แก่ นายณวพลภ์ บุญอาษา จาก จ.กาฬสินธุ์ นางสาวปิยะณัฐ นันทการณ์ จาก จ. ลำปาง และ นางสาวธนิชา ธนะสาร จาก จ.เชียงใหม่ ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่านจะได้รับเกียรติบัตรจาก ฯพณฯ องคมนตรี นายแพทย์เกษม วัฒนชัย อีกด้วย
สำหรับ นายอดิศักดิ์ คัมภีระ ผู้ที่คณะกรรมการลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นบุคคลต้นแบบในครั้งนี้ ปัจจุบันรับราชการเป็น ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ดำเนินเรื่องการส่งเสริมการอ่านอย่างชัดเจน นำนโยบายมาเปลี่ยนเป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ส่งผลกระทบและสร้างความสนใจให้กับประชาชนทุกส่วนด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการอ่าน เช่น พื้นที่ส่งเสริมการอ่าน หนังสือพิมพ์ชุมชนที่สำคัญ คือ การจัดรวบรวมบรรณารักษ์อาสา และอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านครอบคลุมทั้ง 23 ตำบล อีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้ชุมชนและสถานศึกษาอื่นๆ มาเรียนรู้
นอกจากนี้ ในงานยังได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ "(มอบ)หนังสือตรงใจ(ผู้รับ)" โดย นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และนายจรัญ มาลัยกุล หัวหน้าโครงการอ่านสร้างชาติ มูลนิธิกระจกเงา มาเล่าประสบการณ์ในการรับบริจาคหนังสือ ซึ่งพบว่าหนังสือส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่เจ้าของไม่ได้อ่านแล้ว บางส่วนก็จะเป็นหนังสือที่สภาพชำรุด หรือมีเนื้อหาไม่เหมาะสมกับผู้รับ รวมทั้งนิตยสารรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ที่ข้อมูลล้าสมัยไปแล้ว เมื่อได้รับหนังสือที่บริจาคมาแล้วก็ต้องจ้างบุคลากรมาคัดแยกหนังสือ และจะเหลือหนังสือที่มีคุณภาพพร้อมส่งต่อได้เพียงร้อยละ 30 นอกจากนี้ หนังสือที่ได้รับจากการบริจาค อาจจะมีเนื้อหาไม่เหมาะกับกลุ่มผู้รับ เช่น มอบหนังสือเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้กับชุมชนเกษตรกร ที่ต้องการหนังสือเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมมากกว่า อย่างไรก็ตาม วิทยากรทั้งสองท่านได้แนะนำว่า การมอบ หรือการบริจาคหนังสือให้กับผู้รับควรที่จะหาข้อมูลของผู้รับว่า กลุ่มผู้อ่านคือใคร มีความสนใจในเรื่องใด และมีข้อพึงระวังในเรื่องใดบ้าง เพื่อจะได้คัดสรรหนังสือได้ตรงใจและความต้องการของผู้รับ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ และสุขใจทั้งผู้รับและผู้ให้
โดยในช่วงท้ายยังได้มีการมอบทุนสนับสนุนให้กับชุมชนต้นแบบการอ่านที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ชุมชนแผ่นดินทองอินดารุ้ล มีนา หนองจอก กรุงเทพฯ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบางพลับ จ.นนทบุรี โรงเรียนวัดอินทร์ จ.นนทบุรี โรงเรียนบ้านนาเกตุ จ.ปัตตานี และ โรงเรียนแม่หลวงอุปถัมภ์ไทยคีรี จ.เชียงราย โดยทั้งหมดจะได้รับทุนแห่งละ 30,000 บาท เพื่อเลือกซื้อหนังสือตามความต้องการของชุมชน ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 ตามโครงการ ‘หนังสือตรงใจ’ อีกด้วย
ผู้สนใจโครงการ "๑ อ่านล้านตื่น" และกิจกรรม “หนังสือตรงใจ” สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook: 1 อ่านล้านตื่น หรือที่ 02 954 9560-4