โครงการพัฒนาสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ
โครงการพัฒนาสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นโครงการที่สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดทำขึ้น (ภายใต้แผนงานพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการด้วยการควบคุมปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ควบคุมการสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การพนัน และการเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางของพนักงานอย่างบูรณาการ เป็นระบบและต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิดที่เชื่อว่า การสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานในสถานประกอบการ จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน หากสถานประกอบการมีปัจจัยเอื้อทั้งภายในและภายนอก ดังนี้
การให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ และพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานทุกขั้นตอน
การทำงานอย่างแข็งขันของคณะทำงาน รู้สึกภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนให้หน่วยงานตนเองเป็นสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ และที่สำคัญมีความเข้าใจและมีทักษะในการขับเคลื่อน
การมีส่วนร่วมของพนักงานในสถานประกอบการ
มีองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน
มีที่ปรึกษา ให้คำแนะนำเมื่อพบปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งมีการสนับสนุนเครื่องมือให้แก่สถานประกอบการ เพื่อดำเนินการได้อย่างประหยัดและสะดวกยิ่งขึ้นเพื่อให้สถานประกอบการสามารถสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงกำหนดให้การดำเนินงานของโครงการฯ เน้นการสร้างและเสริมปัจจัยเอื้อทั้งภายในและภายนอกให้เกิดขึ้นในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ดังนี้
สร้างทางเลือกในการดำเนินงาน
สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถเลือกประเด็นและกระบวนการในการดำเนินการตามความพร้อมของสถานประกอบการเอง ดังนี้
ทำเรื่องบุหรี่เรื่องเดียวหรือทำพร้อมๆ กับเรื่องอื่นๆ สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ ควบคุมการสูบบุหรี่ของพนักงานเป็นเรื่องแรก โดยอาจทำเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวหรือดำเนินการเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องเหล้า การพนัน และอุบัติเหตุจากการเดินทาง ไปพร้อมๆ กัน โดยใช้กระบวนการเดียวกัน ตามความพร้อมและความต้องการของสถานประกอบการเอง
ทำระดับพื้นฐานหรือระดับก้าวหน้า
• ทำระดับพื้นฐาน เป็นการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพที่มีกระบวนการไม่ซับซ้อน โดยอาจเป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพพนักงานด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยไม่ต้องมีการวางแผนการจัดทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
• ทำระดับก้าวหน้า เป็นการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน นับตั้งแต่การจัดทำนโยบายสร้างเสริมสุขภาพเป็นลายลักษณ์อักษร มีการจัดตั้งคณะทำงานสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน มีการจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพ มีการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ จนถึงการประเมินผลเพื่อปรับปรุงกิจกรรมหรือแผนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ
สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการส่งเสริมให้มีการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน โดยเฉพาะสถานประกอบที่มีการดำเนินงานการในระดับก้าวหน้า โดยหลังจากที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จะต้องดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพตามระดับที่เลือก ดังขั้นตอนต่อไปนี้
กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ
ส่งเสริมให้สถานประกอบการเกิดกระบวนการเรียนรู้ เป็นที่ยอมรับว่า แนวทางการพัฒนา “สถานประกอบการปลอดบุหรี่” (แผนงานระยะที่ 1) ที่ดำเนินงานโดยสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นให้สถานประกอบการมีการควบคุมการสูบบุหรี่ ด้วยการสร้างเสริมศักยภาพของสถานประกอบการในการวางแผนและดำเนินงานเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ในที่ทำงานอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตามความพร้อมของสถานประกอบการนั้น สถานประกอบการแต่ละแห่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานได้จริง จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ รวมทั้งเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพรายบุคคลได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น ในโครงการพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ จึงมีการจัดจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในสถานประกอบการ ดังนี้
• การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการขับเคลื่อนสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ” รวมทั้งจัดให้มีการสัมมนาในประเด็นสุขภาพที่สถานประกอบการสนใจ เป็นระยะๆ
• การสนับสนุนสื่อรูปแบบต่างๆ (แผ่นพับ โปสเตอร์ ชุดนิทรรศการ ชุดสื่อมัลติมีเดีย ฯลฯ) เพื่อให้สถานประกอบการใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน
• การให้คำปรึกษาและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานของสถานประกอบการอย่างใกล้ชิด ผ่านการบริหารโครงการย่อย
• การสนับสนุนงบประมาณในการสร้างเสริมสุขภาพ (เฉพาะสถานประกอบการที่ดำเนินการในระดับก้าวหน้าและมีความจำเป็นต้องขอรับงบประมาณสนับสนุน)
ประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการ ตามระดับการดำเนินงานหลังจากที่สถานประกอบการมีการดำเนินการด้านการสร้างเสริมสุขภาพระยะหนึ่ง (ประมาณ 6-12 เดือน) โครงการฯ จะจัดให้มีการประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามระดับการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพของสถานประกอบการ (ประมาณเดือน มิถุนายน 2555) โดยมีการจัดระดับการดำเนินงาน เป็น 2 ระดับ ได้แก่ สถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพระดับพื้นฐาน และสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพระดับก้าวหน้า ดังรายละเอียดต่อไปนี้
สถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพระดับพื้นฐาน (HPE Standard) เป็นการประกาศเกียรติคุณ สถานประกอบการที่มีการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ดังต่อไปนี้
1. มีการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 ประเด็น โดยต้องมีการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่ทำงาน เป็นประเด็นหลัก และอาจทำการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ (ได้แก่ เหล้า การพนัน และอุบัติเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง) พร้อมกันไปด้วย
2. มีการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงานด้วยการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
• มีนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพเป็นลายลักษณ์อักษร และประกาศให้พนักงานทราบโดยทั่วกัน เช่น มีนโยบายควบคุมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน หรือนโยบายห้ามเล่นการพนัน ฯลฯ
• มีการจัดตั้งคณะทำงาน หรือมีการมอบหมายหน้าที่ให้กับคณะทำงานที่มีอยู่แล้วอย่างชัดเจน
• ไม่มีการจำหน่ายสินค้าที่เป็นบ่อนทำลายสุขภาพทุกชนิด อาทิ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
• มีการจัดทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
– มีการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ (อย่างน้อยตามกฎหมาย) เช่น การกำหนดเขตปลอดบุหรี่ในพื้นที่ต่างๆ ของบริษัท และจัดให้มีเขตสูบบุหรี่อย่างเหมาะสม (หากยังมีพนักงานที่ยังสูบบุหรี่) พร้อมทั้งจัดให้มีการติดป้าย หรือสติกเกอร์เขตปลอดบุหรี่/เขตปลอดแอลกอฮอล์ เขตสูบบุหรี่ ฯลฯ ในพื้นที่อย่างชัดเจน
– มีระบบสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นแก่พนักงานเช่น การจัดกิจกรรมปฐมนิเทศสำหรับพนักงานใหม่เพื่อให้ทราบถึงนโยบายสร้างเสริมสุขภาพของบริษัท การจัดให้มีการเผยแพร่ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ การจัดกิจกรรมรณรงค์ การแจกเอกสารเผยแพร่ความรู้ การจัดบอร์ดประชาสัมพันธ์ หรือเสียงตามสาย ฯลฯ
– มีระบบสนับสนุนพนักงานให้ลด ละเลิก ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง เช่น มีกิจกรรมสนับสนุนให้พนักงานที่ติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ มีกิจกรรมสนับสนุนให้พนักงานเลิกเหล้า ฯลฯ
สถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพระดับก้าวหน้า (HPE Premium)
เป็นการประกาศเกียรติคุณ สถานประกอบการที่มีการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างบูรณาการและเป็นระบบ ดังต่อไปนี้
1. มีการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 2 ประเด็น โดยต้องมีการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่ทำงานเป็นประเด็นหลัก และมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านอื่นๆ (ได้แก่ เหล้า การพนัน และอุบัติเหตุ อย่างใดอย่างหนึ่ง) เป็นประเด็นรองพร้อมกัน
ไปด้วย
2. มีการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน ดังนี้
• มีนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นลายลักษณ์อักษร และประกาศให้พนักงานทราบโดยทั่วกันเช่น นโยบายควบคุมการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน นโยบายไม่รับพนักงานที่สูบบุหรี่หรือติดเหล้า หรือนโยบายห้ามเล่นการพนันในที่ทำงาน ฯลฯ
• มีการจัดตั้งคณะทำงาน /คณะกรรมการ หรือมีการมอบหมายหน้าที่ให้กับคณะทำงานที่มีอยู่แล้วอย่างชัดเจน
• อาจมีการสำรวจสถานการณ์และพฤติกรรมด้านสุขภาพของพนักงาน (โดยเฉพาะในประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่เลือกดำเนินการ)
• มีการจัดทำแผนปฏิบัติการสร้างเสริมสุขภาพ (เช่น แผนปฏิบัติการควบคุมการสูบบุหรี่ แผนปฏิบัติการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน ฯลฯ) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำกิจกรรมควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพของพนักงาน
• ไม่มีการจำหน่ายสินค้าที่เป็นบ่อนทำลายสุขภาพทุกชนิด อาทิ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
• มีการจัดทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ดังต่อไปนี้
– จัดสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ (อย่างน้อยตามกฎหมาย) เช่น การกำหนดเขตปลอดบุหรี่ในพื้นที่ ต่างๆ ของบริษัท และจัดให้มีเขตสูบบุหรี่อย่างเหมาะสม (หากยังมีพนักงานที่ยังสูบบุหรี่) พร้อมทั้งจัดให้มีการติดป้าย หรือสติกเกอร์เขตปลอดบุหรี่/เขตปลอดแอลกอฮอล์ เขตสูบบุหรี่ ฯลฯ ในพื้นที่อย่างชัดเจน
– มีระบบสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นแก่พนักงานเช่น การจัดกิจกรรมปฐมนิเทศสำหรับพนักงานใหม่เพื่อให้ทราบถึงนโยบายสร้างเสริมสุขภาพของบริษัท การจัดให้มีการเผยแพร่ความรู้หรือข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ การจัดกิจกรรมรณรงค์ การแจกเอกสารเผยแพร่ความรู้ การจัดบอร์ดประชาสัมพันธ์ หรือเสียงตามสาย ฯลฯ
– มีระบบสนับสนุนพนักงานให้ลด ละเลิก ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง เช่น มีกิจกรรมสนับสนุนให้พนักงานที่ติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ มีกิจกรรมสนับสนุนให้พนักงานเลิกเหล้า ฯลฯ
สิทธิพิเศษที่สถานประกอบการได้รับ หากสมัครเข้าร่วมโครงการ
• คณะทำงานของสถานประกอบการ ได้เข้ารับการฝึกอบรม “กระบวนการขับเคลื่อนสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
• คณะทำงานหรือบุคลากร ได้เข้าร่วมสัมมนาต่างๆ ที่จัดโดยโครงการฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
• ได้รับคัดเลือกเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพสัญจรโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
• ได้ยืมสื่อต่างๆ เพื่อให้ความรู้กับพนักงานเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ
• รับสื่อรณรงค์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพต่างๆโดยสามารถดาวน์โหลดเพื่อนำไปใช้งานในสถานประกอบการ
• มีสิทธิได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ (ตามเกณฑ์ที่กำหนด)
• เข้าร่วมงานมหกรรมสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ
• รับโล่หรือเกียรติบัตร “สถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ” ตามระดับที่ดำเนินการ
ประโยชน์ที่สถานประกอบการได้รับจากการเป็นสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ
• ผลผลิตสูงขึ้น คุณภาพสินค้าและบริการดีขึ้น
• ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
• ลดการลาป่วย ลดผลกระทบจากการลาป่วย
• ลดค่ารักษาพยาบาล
• ความสัมพันธ์ของคนในองค์กรดีขึ้น
• พนักงานมีความภักดีต่อองค์กรมากขึ้น
ที่มา : สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม