โครงการท่าเหนือเมืองน่าอยู่

นำอุตรดิตถ์สู่เมืองแห่งคุณภาพชีวิต

 

โครงการท่าเหนือเมืองน่าอยู่

 

          เมืองแห่งคุณภาพชีวิต ผลผลิตปลอดภัย บ้านน่าอยู่อาศัย ท่องเที่ยวธรรมชาติวัฒนธรรมไทย ก้าวไกลสัมพันธ์เพื่อนบ้านยั่งยืน” เป็นคำขวัญประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งบ่งบอกถึงเป้าหมายในการทำเมืองแห่งนี้ให้เป็นเมืองที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้ถึงเป้าหมายดังกล่าวจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้จัดทำโครงการ “ท่าเหนือเมืองน่าอยู่” ขึ้น

 

โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เพื่อผลักดันให้จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองแห่งคุณภาพชีวิต

 

          โครงการดังกล่าวมีพื้นที่การดำเนินงานครอบคลุมทั้งจังหวัด 9 อำเภอ รวม 67 ตำบล โดยมีเครือข่ายที่เข้าร่วม6 เครือข่าย ได้แก่ 1.เครือข่ายท้องถิ่น 2.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เนื่องจากอาชีพโดยส่วนใหญ่คือเกษตรกรรม3.เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ขับเคลื่อนจากองค์กรชุมชนมากถึง 48 ตำบล มีเงินทุนกว่า 15 ล้านบาทและกำลังจะขอจดทะเบียนเป็นองค์กรสวัสดิการชุมชน เป็นการร่วมดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย ถือเป็นการรื้อฟื้นเรื่องเก่าที่สังคมได้ละเลย คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยรัฐบาลได้เห็นความสำคัญจึงมอบเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อสนับสนุนการสร้างหลักประกันในภาคประชาชน

 

          4.เครือข่ายท่องเที่ยวสีเขียวและวิสาหกิจชุมชนซึ่งอุตรดิตถ์มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 5.เครือข่ายการเรียนรู้ ซึ่งมีแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาจำนวนมาก และมีภาควิชาการทั้งจากสถานศึกษาและนักวิจัยชุมชน เข้ามาร่วมสร้างเครือข่ายการวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 6.เครือข่ายการจัดการที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาและได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและการประกาศเขตป่าทับที่ทำกินที่อยู่อาศัยของชุมชนนอกจากนี้ยังมีแรงหนุนเสริมจากเครือข่ายเด็กและเยาวชน ที่จะเข้ามาร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้จังหวัดน่าอยู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้พัฒนาประชากร ที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่

 

          จากการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคมพฤษภาคม 2553 ได้มีการเน้นศักยภาพของประชาชนในชุมชน และการผสานพลังร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัด เพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมเกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนสู่ “จังหวัดน่าอยู่” โดยคนอุตรดิตถ์ เพื่อคนอุตรดิตถ์

 

          นายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่ สสส.สนับสนุนให้จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นจังหวัดสุขภาวะ เนื่องจากมีทุนและความพร้อมค่อนข้างมาก ได้แก่ 1.มีฐานของงานตำบล 1 ใน 3 ของพื้นที่ ซึ่งตอนนี้อุตรดิตถ์มีฐานงานตำบลสุขภาวะมากถึง 32 ตำบล และตอนนี้กำลังขยายอีก 30 ตำบลโดยส่วนใหญ่เด่นในเชิงประเด็น โดยเฉพาะเรื่องเกษตรทางเลือก

 

 

โครงการท่าเหนือเมืองน่าอยู่

 

ซึ่งในส่วนงานท้องถิ่น ท้องที่มีความเข้มแข็งจนเกิดเป็นเครือข่ายท้องถิ่น ท้องที่ที่ร่วมมือกันเกื้อกูลและมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ที่มีในชุมชนระหว่างกัน ซึ่งเป็นกลไกที่ทรงพลังมหาศาล นายสมพร บอกต่อว่า ส่วนทุนข้อ 2 คือ จังหวัดนี้มีศูนย์เรียนรู้ถึง 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะชุมชนแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และเครือข่าย และชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี ภาควิชาการจะเข้ามาหนุนเสริมและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องการจัดการองค์ความรู้ งานวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดจากทุนเดิมของชุมชนที่มีอยู่

 

          สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ แรงสนับสนุนจากภาคราชการโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเป้าหมายสูงสุดของจังหวัด คือ การประสานความร่วมมือและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะระดับจังหวัดที่มาจากความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติใช้ได้จริง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งตอนนี้เรามาถูกทางแล้วเพราะสิ่งที่ทำถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปประเทศไทยผ่านการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด

 

โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง จากการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ในทุกพื้นที่ ในทุกภาคส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในจังหวัดได้อย่างตรงจุด” เลขานุการคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ บอกด้วยว่า

 

             นอกจากนี้ตามเจตนาของ น.ส.ดวงพรเฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน สสส. ยังต้องการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น โดยมีผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการหลากหลายฝ่าย ที่คอยให้คำแนะนำ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงคอยกำกับดูแล ดังนั้น อาจจะต้องมีการปรับวิธีคิดใหม่ ทำให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีการสร้างจิตสำนึก และจุดประกายให้คนในชุมชนเกิดความตระหนักในการรักษาบ้านเมืองเพื่อนำไปสู่ประเทศที่น่าอยู่ต่อไปได้

 

          ด้าน นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์กล่าวว่าจังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มีเขตการปกครองทั้งหมด 9 อำเภอ67 ตำบล 651 หมู่บ้าน อาชีพหลักคือเกษตรกรร ได้แก่นาข้าวและไม้ผล มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์แต่ปัญหาที่พบคือ จังหวัดอุตรดิตถ์ยังขาดการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านแหล่งท่องเที่ยวที่ดี เพื่อให้สามารถดึงคนเข้ามาเที่ยวในจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมไปถึงการจัดการเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับคนในชุมชน การถ่ายทอดประเพณีประวัติศาสตร์ให้แก่คนรุ่นหลัง และสนับสนุนแกนนำที่จะมีความพร้อมในการเคลื่อนงานเครือข่ายท่องเที่ยวสีเขียว และวิสาหกิจชุมชน ซึ่งรวมถึงการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอาหารที่ปลอดภัย ปลอดอบายมุข สะอาด น่าดู มีร้านค้าที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่แต่ละพื้นที่ รวมถึงการฟื้นฟูและให้ความสำคัญกับการละเล่นพื้นบ้าน ศิลปะวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดอุตรดิตถ์         

 

ความจริงแล้วการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่เป็นความคิดและอยู่ในใจของคนอุตรดิตถ์ เพราะมีธรรมชาติเป็นทุนเดิม มีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจหลายด้าน ซึ่งหากนำสิ่งเหล่านี้ไปถ่ายทอดสู่สังคม หรือใส่ในข้อมูลให้เด็กได้ศึกษาก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากดังนั้น จำเป็นต้องฟื้นฟูและให้ความสำคัญกับทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นของเรา เพื่อที่จะนำมาทำประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ได้”

 

          ในอนาคตเชื่อแน่ว่าหลังจากที่มีโครงการ “ท่าเหนือเมืองน่าอยู่” โดยการสนับสนุนของ สสส. จะทำให้เมืองอุตรดิตถ์สามารถก้าวขึ้นสู่เป้าหมายเมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี ตามเป้าหมายได้ไม่ยาก

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

 

update: 23-06-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

Shares:
QR Code :
QR Code