แลกคืนโฟม แลกคืนสุขภาวะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
รู้กันดีว่า กล่องโฟมบรรจุอาหารที่เรา รับประทานกันเป็นประจำนั้นเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายกว่า 1,000 ปี
ในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกาในบางรัฐ เช่น นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ได้ยกเลิกการใช้กล่องโฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหารแล้ว ขณะที่ในเมืองไทย โฟมได้กลายเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลมีนโยบายและจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อลด ละ เลิก การใช้ "โฟมโพลิสไตรีน" บรรจุอาหารภายใน 3 ปี (พ.ศ.2558-2560) ล่าสุด เขตภาษีเจริญ นับเป็นพื้นที่นำร่องเขตแรกของกรุงเทพมหานครที่เดินหน้าประกาศทำสงครามกับภาชนะโฟมด้วยการขับเคลื่อนมหกรรม "ร้านค้าพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟม.. แลกคืนโฟม แลกคืนสุขภาพ" ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่ สุขภาวะเขตภาษีเจริญ โดยศูนย์วิจัย เพื่อการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม (ศวพช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
ภาพกล่องโฟมสุมรวมกันเป็นกองโตพร้อมป้ายรณรงค์ไม่ใช้โฟม ภายในพื้นที่ จัดงานมหกรรม "แลกคืนโฟม แลกคืนสุขภาพ" ในสวนสันติภาพ มหาวิทยาลัยสยาม ถือเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศเจตนารมย์ร่วมกันของผู้ประกอบการร้านอาหารกว่า 42 ร้านค้า ว่าจะไม่ใช่ภาชนะโฟมบรรจุอาหารอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นการแลกใจกับความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค โดยทุกร้านยอมเป็นผู้เสียสละ ด้วยการยอมเพิ่มต้นทุนในการจัดหาภาชนะที่ปลอดภัยให้กับลูกค้า เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะพื้นที่ปลอดโฟม
ภายในงานครั้งนี้ ทั้ง 42 ร้านค้ายังพร้อมใจกันนำภาชนะโฟมกว่า 1 หมื่นชิ้นมาแลกคืนเป็นภาชนะที่ปลอดภัย ทำจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่าย จากทาง โครงการฯ พร้อมรับมอบป้ายสัญลักษณ์ "ร้านค้าพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟม" เพื่อเป็นการการันตีว่า ผู้บริโภคจะไม่เสี่ยงต่อพิษภัยจากภาชนะบรรจุอาหาร
ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสยาม (ศวพช.) และเลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เขตภาษีเจริญเป็นพื้นที่ สุขภาวะปลอดขยะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะภายใต้บริบทสังคมเมือง โดยมีรายงานสถิติว่าคนไทยสร้างขยะประเภทกล่องโฟมเฉลี่ย 2.3 กล่องต่อคนต่อวัน นั่นคือในแต่ละวันมีกล่องโฟมที่ถูกทิ้งให้เป็นขยะรวมกันไม่ต่ำกว่า 138 ล้านกล่อง โฟม จึงเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ด้านขยะที่เราเริ่มต้นรณรงค์โดยจัดการที่ต้นทาง คือ ร้านอาหารที่ใช้โฟมบรรจุอาหาร ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการรณรงค์ให้เขตภาษีเจริญเป็นพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟมต้นแบบของกรุงเทพฯ
"การรณรงค์ในช่วงที่ผ่านมา เราได้ลงพื้นที่สำรวจทั้ง 54 ชุมชน เชิญผู้นำชุมชน ร้านค้ามาร่วมประชุม พร้อมทั้งเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจชี้ให้เห็นว่า แม้โฟม จะมีน้ำหนักเบา ใช้สะดวก ซื้อง่าย ราคาถูก แต่มีกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ แล้วเราจะปล่อยให้ลูกหลานของเราต้องเสี่ยงกับสุขภาวะที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ในอนาคตอย่างนี้หรือ" ผศ.ดร.กุลธิดา ตั้งคำถามกลับ
ผลตอบรับจากร้านค้าส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ มองว่า การค้าขายนอกจากมองที่กำไรที่ได้รับเป็นเงินแล้ว เขาอยากได้กำไรในเชิงบุญกุศลด้วย ในขณะที่บางรายบอกว่า ยุคนี้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น แม้การปรับเปลี่ยนมาใช้ภาชนะอื่นแทนกล่องโฟมจะทำให้ต้นทุน เพิ่มขึ้น แต่การให้ความสำคัญกับสุขภาพจะทำให้ในที่สุดสามารถคืนผลตอบแทนในระยะยาวได้มากกว่า
สำหรับความท้าทายในด้านปัจจัยต้นทุนที่สูงขึ้นจากการปรับเปลี่ยนจากภาชนะโฟมมาเป็นบรรจุภัณฑ์ทดแทน มิติใหม่ของการรณณงค์ครั้งนี้ ทางโครงการฯ จึงได้สร้างกลไกในการเข้าถึง "กล่องอาหารจากชานอ้อย" ที่ปลอดภัยและ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในราคาที่ต่ำกว่า ท้องตลาด โดยประสานความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิต และช่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางจัดจำหน่ายให้ร้านค้าที่สนใจ เลิกใช้โฟม ให้สามารถเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ทดแทนในราคาถูก โดยจะมีการเก็บสถิติเพื่อดูการเติบโตของยอดการใช้ และในอนาคตอาจเสนอผลักดันให้มีการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายต่อไป คาดว่าในอนาคต หากความต้องการใช้มากขึ้น ราคาน่าจะ ลดลงกว่าที่เป็นอยู่
ด้านเครือข่ายตัวแทนร้านอาหารในเขตภาษีเจริญที่เข้าร่วมโครงการ สมเกียรติ ปิติทศพร เจ้าของร้านบางหว้าขาหมู เล่าถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ที่ร้านเลิกใช้กล่องโฟมในการบรรจุอาหาร แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นว่า "เพราะผมรักลูกค้าผม"
"ถ้าเราอยากรักษาลูกค้าให้อยู่กับเรานานๆ เราก็ควรรักษาสุขภาพของลูกค้าด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมยึดถือในการทำธุรกิจ มาตลอด เรายอมที่จะกำไรน้อยหน่อย แต่ขายของดี ทำให้ขายได้จำนวนมาก ร้านบางหว้าขาหมูของเราเลิกใช้กล่องโฟมมาได้ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่ผมได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ว่า การใช้กล่องโฟมอาจเป็น บ่อเกิดโรคมะเร็งได้ ถ้าเรารักลูกค้า เราก็ต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูกค้า"
สมเกียรติ บอกว่า แม้การหันมาใช้ภาชนะที่ใช้วัสดุทดแทนจากธรรมชาติจะมีต้นทุนที่แพงกว่าใช้โฟม แต่สิ่งที่เทียบกันไม่ได้ คือ ความสบายใจ และสุขภาพ ที่ดีกว่า ซึ่งเชื่อว่า ต่อไปหากกลไกตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น น่าจะสามารถผลักดัน ให้ราคาอาจปรับลดลงมาได้มากกว่านี้
นอกจากนี้ จากกระแสรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเช่น ภาชนะกระดาษบรรจุอาหารที่มีดีไซน์สวยงาม สะดวกต่อการใช้งาน และราคาถูกกว่า มาเป็นทางเลือกใหม่ๆ นอกเหนือจากภาชนะชานอ้อย
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า กลไก ที่จะทำให้ร้านค้าต่างๆ เลิกใช้โฟมได้อย่างเด็ดขาด คงต้องมีการออกเป็นกฎหมายบังคับ ขณะที่สื่อต่างๆ ต้องช่วยกันเผยแพร่พิษภัยของการใช้โฟมเพื่อให้ความรู้กับประชาชนด้วยอีกทางหนึ่ง
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะของคนเมือง เป็นสิ่งที่ สสส. ให้ความสำคัญและหนุนเสริมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเขตภาษีเจริญถือเป็นเขตต้นแบบของการพัฒนาชุมชนเมืองที่ทำให้เห็นว่าพื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดของการพัฒนาสุขภาวะ ซึ่งประเด็นเรื่องขยะจากโฟมนับเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ปริมาณขยะประเภทโฟมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2552-2556 มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการใช้โฟมจาก 34 ล้านใบต่อวัน เป็น 61 ล้านใบต่อวัน ซึ่งคนไทยเฉลี่ยแล้วสร้างขยะประเภทโฟมเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ใบต่อคนต่อวัน
นอกจากนี้ การใช้โฟมบรรจุอาหารปรุงสำเร็จรูปยังไม่เหมาะกับอาหารร้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีความร้อนเกิน 70 องศาเซลเซียส และมีไขมัน ส่งผลให้สาร สไตรีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอน การผลิต และเป็นสารก่อมะเร็งออกมา ปนเปื้อนอาหารเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สำหรับแนวทางเพื่อเป็นการทดแทนพื้นที่โฟม จึงต้องใช้กลไกการตลาดที่ร้านค้า ผู้บริโภค สามารถเพิ่มยอดการใช้ให้มากขึ้น โดยหน่วยงานภาครัฐต้องขับเคลื่อนในเรื่องของราคาที่ร้านค้าและผู้บริโภคเข้าถึงกล่องบรรจุอาหารที่ปลอดภัยในราคาที่ต่ำลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาวะของประชาชน และรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในโครงการ "ร้านค้าพื้นที่สุขภาวะปลอดโฟม" ครั้งนี้ จะผลักดันให้เขตภาษีเจริญและกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่สุขภาวะปลอดขยะและปลอดโฟมในอนาคตได้อย่างแท้จริง ในแต่ละวันมีกล่องโฟมที่ถูกทิ้งให้เป็นขยะรวมกันไม่ต่ำกว่า 138 ล้านกล่อง