แรงงาน ป่วยด้วยโรคปวดหลังมากสุด

ที่มา : ไทยโพสต์


แรงงาน ป่วยด้วยโรคปวดหลังมากสุด thaihealth


แพทย์เผยพบว่าปัจจุบันวัยแรงงานอายุตั้งแต่15ปี เป็นโรคปวดหลังมากสุด เนื่องจากวิธีการปฏิบัติงาน รวมทั้งสถานประกอบการที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของลูกจ้างเป็นส่วนใหญ่


นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคปวดหลังจากการทำงานมี 2 สาเหตุ คือ 1.จากตัวพนักงานเอง เช่น อายุที่มาก มีความเสื่อมของร่างกายทำให้ปวดหลังได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว โรคประจำตัว เช่น โรคกระดูกสันหลัง หรือน้ำหนักตัวที่มากจะมีโอกาสปวดหลังมากกว่า โดยผู้ชายมีโอกาสปวดหลังได้มากกว่า ผู้หญิงจากลักษณะการทำงาน นอกจากนี้ การสูบบุหรี่มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงที่หลังไม่เพียงพออาจส่งผลให้ปวดหลังได้


2.จากสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน คือ งานที่ต้องออกแรงมาก ทำให้กระทบต่อกล้ามเนื้อหรือหมอนรองกระดูก ท่าทางเวลายกอาจจะไม่ถูกต้อง เช่น ยกของที่สูงกว่าระดับศีรษะหรือต้องก้มหลังยก อาจจะต้องมีการเอี้ยวไปเอี้ยวมา ส่งผลต่อกล้ามเนื้อและเอ็นทำให้ปวดหลัง รวมทั้งอาจเป็นด้วยสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น การยกของในพื้นที่ที่ไม่เรียบ พื้นที่คับแคบ ผู้ที่ปวดหลังจากการทำงานร้อยละ 90 มีอาการปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นจะเป็นอาการปวดหลังที่รุนแรง เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเคลื่อน เป็นต้น


"การรักษานั้นหากอาการไม่รุนแรงมาก การได้ลาพักปฏิบัติงานหรือการกินยาแก้ปวด อาจจะหายเป็นปกติในเวลาที่ไม่นาน ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงมาก อย่างเส้นประสาทอ่อนแรงอาจต้องมีการผ่าตัด วิธีป้องกัน นายจ้างควรจัดสภาพการทำงานให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งมีการแนะนำท่าทางที่ถูกต้องในการยกของ นอกจากนี้อาจต้องใช้เครื่องจักรมาทำงานแทนในงานที่ต้องมีการยกหรือทำงานนั้นตลอดเวลา"


นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้เปิดให้บริการคลินิกโรคจากการทำงาน มีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยด้วยในโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ ควรปรับสภาพการทำงาน หรือออกกำลังกายอย่างที่ถูกวิธีเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง หากหน่วยงานที่มีการรายงานเจ้าหน้าที่ในเรื่องการเจ็บป่วยที่เกิดจากสภาพแวดล้อม จะมีดำเนินการแก้ไข โดยนำปัญหามาเพื่อทบทวนหาสาเหตุและติดตามผล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความสุข ถ้าเป็นลูกจ้างภายนอก เช่นโรงงาน บริษัทต่างๆ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีจะมีการออกหน่วยตรวจสอบหาสาเหตุ เพื่อให้นายจ้างทำการปรับเปลี่ยนสภาพการทำงานหรือวิธีการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เพื่อการป้องกันตามแนวทางที่ถูกต้อง และเข้าใจถึงสาเหตุเบื้องต้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันอาการปวดหลังจากการทำงานต่อไป.


"การรักษานั้นหากอาการไม่รุนแรงมาก การได้ลาพักปฏิบัติงานหรือการกินยาแก้ปวด อาจจะหายเป็นปกติในเวลาที่ไม่นาน ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงมาก อย่างเส้นประสาทอ่อนแรงอาจต้องมีการผ่าตัด วิธีป้องกัน นายจ้างควรจัดสภาพการทำงานให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งมีการแนะนำท่าทางที่ถูกต้องในการยกของ นอกจากนี้อาจต้องใช้เครื่องจักรมาทำงานแทนในงานที่ต้องมีการยกหรือทำงานนั้นตลอดเวลา"

Shares:
QR Code :
QR Code