แรงงานไทยหัวใจไร้เหล้า

จากการที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-พ.ศ.2554) กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา นับว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดลำพูนที่มุ่งหวังให้สังคมน่าอยู่ ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในเรื่องนี้ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ได้มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการรณรงค์ ลด ละ เลิกเหล้าในสถานประกอบการที่อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เพื่อให้เป็น “นิคมอุตสาหกรรมสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า”

แรงงานหัวใจไร้เหล้า

ดังนั้น จึงได้มีการบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของพนักงานในสถานประกอบการและประชาชนทั่วไป ระหว่างจังหวัดลำพูน สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลำพูน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายสถานประกอบการโรงงานสีขาวลด ละ เลิกเหล้า จำนวน 21 แห่ง

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ในเรื่องนี้ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนานโยบายนิคมอุตสาหกรรมสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า กล่าวว่า จากการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ชวนเพื่อนเลิกเหล้าเข้าพรรษา ประจำปี 2554 ที่ผ่านมา นับได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดยจะเห็นได้จากมีพนักงานเข้าร่วมการปวารณาตนงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นจำนวน 2,200 คน สามารถสร้างพนักงานต้นแบบ ลด ละ เลิกเหล้าในสถานประกอบการได้ 22 คน รวมถึงสถานประกอบการต้นแบบ ลด ละ เลิกเหล้า จำนวน 22 แห่ง ตลอดจนสามารถลดอุบัติเหตุในการทำงานของพนักงานและสถานประกอบการ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและสถานประกอบการโดยมีสถิติการขาดงานหรือลางานลดลงอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ จากการได้พูดคุยกับทางตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเหล้าที่จังหวัดลำพูน พบว่า หลังจากการณรงค์ดังกล่าวและมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ดื่มน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจนยอดขายลดลงถึง 18-24% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลหวังว่าการขับเคลื่อนต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมสีขาว ลด ละ เลิกเหล้า ครั้งนี้จะเป็นการขยายผลจากการขับเคลื่อนในระดับโรงงาน นำไปสู่ระดับนโยบายของประเทศต่อไปในอนาคต

นายภุชงค์ โพธิกุฎสัย ด้านนายภุชงค์ โพธิกุฎสัย รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า นับว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ที่มีสถานประกอบการให้ความสำคัญและความสนใจเข้าร่วมโครงการกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของผู้ใช้แรงงานที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้กลุ่มแรงงานรวมพลังในการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งขยายผลโครงการดังกล่าวไปยังสถานประกอบการ โรงงานต่างๆ ในจังหวัดลำพูน รวมทั้งให้พนักงานในสถานประกอบกิจการ โรงงานของตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพดี และมีครอบครัวที่เป็นสุข ตลอดจนลดความสูญเสียในด้านต่างๆ ของผู้ใช้แรงงานเอง และประเทศชาติโดยรวม เนื่องจากผู้ใช้แรงงานเป็นกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่มีสำคัญอย่างยิ่ง เปรียบกับกระดูกสันหลังของประเทศ เป็นกำลังสำคัญที่ทำงานและเพิ่มผลผลิต และนำรายได้มาสู่ประเทศ

ทั้งนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากแรงงานเลิกเหล้าที่ค้นพบสัจธรรมของชีวิตหลังจากเลิกดื่มเหล้า อย่างนายมเหศวร ประเสริฐสังข์ อายุ 26 ปี พนักงานบริษัท สเต็ปสโตนส์ ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า เริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุประมาณ 18 ปี เนื่องจากได้สมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์ โดยมีกลุ่มเพื่อนพลทหารด้วยกันชักชวนให้ดื่มเหล้า หากไม่ดื่มก็จะถูกล้อว่าเป็นกะเทย ไม่ใช่ลูกผู้ชายตัวจริง และในกลุ่มเพื่อนจะมีสโลแกนสำหรับทหารว่า “เป็นทหารนอนนับขวด เป็นตำรวจนอนนับแบงก์” หลังจากการปลดการเป็นทหารก็ยังคงดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่ สำมะเลเทเมากับเพื่อนเรื่อยมา และด้วยฐานะทางบ้านพออยู่พอกิน จึงอยู่บ้านไปวันๆ ไม่มีงานทำ ใช้ชีวิตเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมายในอนาคต

แรงงานไทยหัวใจไร้เหล้า

“หลังจากที่ยายเสียชีวิตลง จึงจำเป็นต้องหางานทำอย่างจริงจัง เมื่อมีงานทำก็เริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง แต่ก็ยังคงดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่เหมือนเดิม ทำให้ไม่มีเงินเก็บ ร่างกายเริ่มทรุดโทรม ต่อมาเมื่อเริ่มรู้จักพี่ๆ ที่เป็นคณะกรรมการสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ได้ชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นแนวคิดที่แตกต่างจากวิถีชีวิตเดิม ประกอบกับได้เริ่มคบหาดูใจกับแฟนคนปัจจุบัน จึงคิดที่จะสร้างครอบครัวร่วมกัน เก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เพื่อบั้นปลายชีวิต และมาวิเคราะห์ถึงค่าใช้จ่าย พบว่าถ้าไม่กินเหล้าจะมีเงินเหลือออมมากขึ้น จึงตัดสินใจเริ่มต้นด้วยการลด ละ และกำลังจะเลิกอย่างถาวร” นายมเหศวรกล่าว

ขณะที่นางรุ่งทิวา จันทร์วงค์ อายุ 34 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เล่าว่า เริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่อายุประมาณ 21-22 ปี เนื่องจากมีปัญหาทะเลาะกับแฟนทั้งด้านการเงินและเรื่องมือที่สามเข้ามาพัวพัน จึงทำประชดแฟนด้วยการดื่มเหล้า เที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูง จนกระทั่งต้องเลิกรากันไป หลังจากนั้นก็ยังคงดื่มเหล้ากับเพื่อนเรื่อยมา แม้จะมีเงินจุนเจือให้ทางบ้านบ้าง แต่ไม่มีเงินในการดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่ ทำให้เป็นหนี้เงินกู้นอกระบบ ต้องนำบัตรเอทีเอ็มไปวางเป็นหลักประกันจนมีปัญหาด้านการงาน หลังจากใช้หนี้จนหมดจึงตัดสินใจลาออกจากงานเดิมที่มีรายได้มากพอสมควร และได้ทำงานที่ใหม่ซึ่งรายได้น้อยกว่าที่เดิม จึงทำให้นึกเสียดายงานที่เก่าเป็นอย่างมาก และคิดได้ว่าหากตนไม่ดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่จนทำให้เสียงาน คงไม่ต้องตัดสินใจลาออกจากงาน ปัจจุบันตนจึงกำลังพยายามเลิกเหล้าอย่างเด็ดขาดเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า “เหล้า” หรือ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ไม่เคยทำให้อะไรดีขึ้น ไม่เคยช่วยแก้ปัญหา มีแต่จะสร้างปัญหาและทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นวันนี้เรามาเลิกเหล้ากันเถอะ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ