แรงงานไทยกับการคุ้มครอง
ต้องมีการควบคุมโรคเพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน
นพ.สนธยา พรึงลำภู ที่ปรึกษาการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานที่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการตามกฎหมายประกันสังคม จำนวน 8 ล้านกว่าคน และจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างในกองทุนเงินทดแทนได้ ประมาณ 2,800 กว่าล้านบาท แต่พบว่า มีการจ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิรับเงินทดแทน 1,688 ล้านบาท หรือ 58.72% ของเงินกองทุนฯ ทั้งที่ผู้ประกันตนของ สปส. มีผู้ป่วยเรื้อรังประมาณ 5% มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้มากถึง 1 ใน 4 ของกองทุนฯ แนวโน้มค่าใช้จ่ายจากโรคเรื้อรังสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก เมื่อเปรียบเทียบในปี 2548 มีอัตราค่าใช้จ่ายโรคเรื้อรังที่ 2,291 ล้านบาท เพิ่มเป็น 4,381 ล้านบาทในปี 2550 เห็นได้ชัดเจนว่าโรคเรื้อรังกำลังเป็นภาระให้แก่กองทุนฯ อย่างมาก
นางเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในอนาคตหากไม่มีการป้องกันและปล่อยให้เกิดโรคเรื้อรังในสัดส่วนที่สูงขึ้น จะเป็นภาระต่อกองทุนประกันสังคมอย่างมาก เพราะโรคเรื้อรังมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นภาครัฐควรต้องจัดการเชิงรุก ต้องป้องกันโรคที่ภาระสูง แต่สามารถป้องกันได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งกว่าครึ่งของผู้ประกันตนเป็นโรคกลุ่มนี้ จึงต้องมีการดูแลสุขภาพลูกจ้าง เช่น การตรวจสุขภาพประจำปี การออกกำลังกาย การจัดโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อป้องและค้นหาโรคที่สามารถรักษาได้
ที่มา : Team content www.thaihealth.or.th
Update : 03-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่