แรงงานเศรษฐกิจภาคนอกระบบกับหลักประกันทางสังคม

หวังรัฐบาลเห็นใจเร่งนโยบายเพื่อการคุ้มครองแรงงาน

 

แรงงานเศรษฐกิจภาคนอกระบบกับหลักประกันทางสังคม 

          “เศรษฐกิจภาคนอกระบบ” คือ ต้นตอของการเกิดแรงงานนอกระบบที่เป็นผลพวงของเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบชีพอิสระขนาดเล็กและกลุ่มผู้รับเหมาช่วง (Sub contractor) ในระบบอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้ทำงานในระบบพันธสัญญา (Contract Farming) ในอุตสาหกรรมการเกษตร

 

          รายงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2545 ระบุอย่างชัดเจนว่า “แรงงานเศรษฐกิจภาคนอกระบบ” สามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยเมื่อปี 2545 โดยคำนวณได้ถึง 2.38 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 43.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น (Labor Intensive) แต่แรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครองกฎหมายตามพรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2540 และนโยบายอื่นๆ ที่มีอยู่ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมก็ไม่สอดคล้องกับบริบทของความเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมวลสมาชิก “แรงงานเศรษฐกิจภาคนอกระบบ” ณ ปัจจุบันมีจำนวนถึง 21.8 ล้านคน (สำนักงานสถิติ 2549) ที่ทำงานเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวในลักษณะแตกต่างกัน โดยไม่มีนายจ้าง หรือมีนายจ้างก็ถูกยกเว้นไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายประกันสังคมของรัฐบาล ทำให้ขาดหลักประกันรายได้และหลักประกันทางสังคม ทั้งขณะทำงานและเมื่อพ้นวัยทำงานเข้าสู่วัยชราภาพ

 

          แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายและแผนขยายการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) และบังคับใช้กฎหมายประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นต้นมา แต่ระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จเชิงปฏิบัติในการนำแรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ความคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสังคมของรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบการนำนโยบายไปปฏิบัติ ขาดความจริงใจในการดำเนินการและห่วงกังวลด้านความมั่นคงของระบบการเงินกองทุนมากกว่าความมั่นคงในการดำรงชีวิตของกลุ่มแรงงานนอกระบบภาคเศรษฐกิจนอกระบบ นอกจากนี้การกระทำของรัฐยังแสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดสรรเงิน งบประมาณสมทบให้แก่แรงงานที่มีสถานะลูกจ้าง ผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมและอุดหนุนเงินกองทุนสวัสดิการสังคมชุมชน แต่ละเลยกลุ่มแรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ทั้งที่สร้างสรรค์เศรษฐกิจให้กับประเทศชาติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประชาชนกลุ่มอื่นๆ เท่าใดนัก

 

          จากการสะท้อนปัญหาของแรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ต้องประสบในการดำรงชีวิตและยังไม่รับการแก้ไขจากหน่วยงาน องค์กรภาครัฐ  โดยเฉพาะปัญหาความไม่เสมอภาคทางด้านความคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสังคมเพื่อให้ได้รับหลักประกันความมั่นคงทางรายได้และหลักประกันทางสังคม ทั้งขณะที่ทำงานประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และเมื่อพ้นจากวัยทำงานเข้าสู่วัยชราภาพที่ไม่อาจหารายได้เลี้ยงชีพได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ  ที่รัฐบาลสนับสนุนอยู่ในปัจจุบันและสอดคล้องกับมาตรา 44 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

 

          อะไรคือความเสมอภาคที่แรงงานเศรษฐกิจภาคนอกระบบควรได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสังคมของรัฐบาลในฐานะที่เขาเป็นแรงงานและสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ

 

          สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ บรรจุนโยบายความคุ้มครองประกันสังคมสำหรับแรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจะต้องปฏิบัติต่อแรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกับประชากรกลุ่มอื่นๆ ในสังคมและการดำเนินการตามนโยบายวาระแห่งชาตินี้จะต้องให้บังเกิดผลการปฏิบัติภายในกำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจน รูปธรรมของการปฏิบัติที่จะนำไปสู่ “ฝันที่จริงของแรงงานเศรษฐกิจภาคนอกระบบ” ที่คิดแบบคนชายขอบอยากมีความมั่นคงในชีวิตเฉกเช่นเดียวกันกับคนที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติ คือให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการภาคีประกันสังคมแรงงานภาคเศรษฐกิจนอกระบบแห่งชาติ โดยองค์ประกอบขอคณะกรรมการต้องมาจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมและให้มีอำนาจหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติ บูรณาการกองทุนสวัสดิการต่างๆ ที่จัดให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม และกำหนดแผนงานเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนนโยบายให้ไปสู่การปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนด

 

          ทั้งหมดคือความคาดหวัง คือ ข้อเสนอที่ “แรงงานเศรษฐกิจภาคนอกระบบ” ที่ได้เรียกร้อง และรอคอยมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 และฝันกลางวัน กลางคืนมาตลอดว่ารัฐบาลชุดไหนจะเห็นใจและมีนโยบายประกันสังคมที่เหมาะสมเพื่อการคุ้มครองแรงงานเศรษฐกิจภาคนอกระบบให้มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ในฐานะที่เป็นแรงงาน

 

          ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

          www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ: อินเตอร์เน็ต

 

 

Update:25-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code