‘แม่วัยรุ่น’ท้องแล้วต้องได้เรียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เวทีการประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด "การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น : จากยุทธศาสตร์ สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน" จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคี ต่าง ๆ รวม 19 องค์กร จัดขึ้น ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้ว
นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คน ที่ 2 กล่าวว่าข้อเสนอแนะและองค์ความรู้ที่ได้จากการประชุมซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม 1,600 คน จะนำไปสังเคราะห์ข้อเสนอแนะในการยกระดับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายลดอัตราตั้งครรภ์ของวัยรุ่นลงครึ่งหนึ่งให้ได้ภายในปี 2569 และสามารถป้อง กันปัญหาได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ "ท้องไม่พร้อม.ทำยังไงให้พร้อม" ว่า หลังจากทุกฝ่ายได้ร่วมกันทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตามสาระสำคัญใน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ผลคือ แนวโน้มสถานการณ์การตั้งครรภ์วัยรุ่น ค่อย ๆ ลดลง โดยดูได้จากอัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นที่มีอายุ 15-19 ปี จากที่เคยมีอัตราสูงสุดถึง 53.4 ต่อพัน ในปี 2554 และ 2555 ล่าสุดตัวเลขลดลงเหลือ 39 ต่อพัน ในปี 2560 และตัวเลขนี้เชื่อถือได้ เพราะนับเฉพาะการคลอด ซึ่งปัจจุบันการคลอดในประเทศไทยเกิดขึ้นในโรงพยาบาลเกือบ 100% แล้ว
"แม้ตัวเลขเหล่านี้จะแสดงถึงความสำเร็จน่าพอใจ แต่ถ้าเทียบกับบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ตัวเลขการตั้งครรภ์วัยรุ่นในกลุ่มเดียวกัน เหลือเพียง 4-5 คนต่อพันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมี วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์จำนวนมากที่ประสบกับความไม่พึงปรารถนามากมาย นักเรียนหลายคนยังถูกบีบให้ย้ายหรือออกจากโรงเรียน กฎหมายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ โครงการที่ดีจำนวนมาก ยังไม่เปิดให้เกิดทางเลือกที่ดี"
ด้าน นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะคณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษาอิสระคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น กล่าวว่าปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้ออก แบบการเรียนสำหรับเด็กท้องในวัยเรียน เช่น ไปคุมสอบที่บ้านให้ทำรายงาน มีครูไปเยี่ยมที่บ้านสม่ำเสมอ ซึ่งการเรียนระบบออนไลน์ยังไม่สามารถจะบ่งชี้ได้ว่าเด็กเข้าถึงการเรียนการสอนได้เพียงใด อย่างไรก็ตาม 4-5 ปี ที่ผ่านมา ผู้หญิงที่อายุไม่ถึง 20 ปีมาคลอดที่โรงพยาบาลเป็นหลักแสน แต่พบว่าหลังจากคลอดลูกกลับเข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีเพียง 700 กว่าคน ซึ่งไม่ทราบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไปประกอบอาชีพอะไร
นพ.วิวัฒน์ กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอแนะว่าหลังจากนี้รพ.ต้องเก็บข้อมูลของผู้หญิงอายุไม่ถึง 20 ปีมาคลอดลูก ต้องสอบถามอาชีพ และความประสงค์ที่จะคุมกำเนิด โดยสิทธิหลักประกันสุขภาพให้ผู้หญิงสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เพิ่มสิทธิให้ผู้หญิงอายุต่ำกว่าอายุ 20 ปีเมื่อไปคลอดลูกที่รพ.แล้ว สามารถใส่ห่วงคุมกำเนิดกึ่งถาวร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีราคาอยู่หลักพัน สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 3 ปี ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดที่ฝังในใต้ผิวหนัง ป้องกันท้องซ้ำ นอกจากนี้ต้องทำงานป้องกันการท้องอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขกำลังทำยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยฉบับใหม่เน้นสร้างค่านิยม ทำให้ถุงยางเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันให้ได้ เช่นเดียวกับผ้าอนามัย เสมือนหน้ากากป้องกันฝุ่น และจะต้องแจกจ่ายถุงยางอนามัยให้ทั่วถึง ถุงยางอนามัยจะขาดแคลนไม่ได้ ต้องควบคุมคุณภาพถุงยาง และต้องทำสภาพแวดล้อมให้เข้าถึงถุงยางอนามัย และประเมินผลการทำงานยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัย จากสถิติที่ผ่านมาเห็นว่าการใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นจากร้อยละ 50 เพิ่มเป็นร้อยละ 75 แต่หวังว่าจะเพิ่มเป็น ร้อยละ90 ได้ ถ้าเพิ่มได้ปัญหาการมีเพศ สัมพันธ์การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะลดลง
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 ภายใต้พระราชบัญญัติป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 กำหนดเป้าหมายลดอัตราการตั้งครรภ์ ในวัยรุ่นให้เหลือต่ำกว่า 25 ต่อพันภายในปี 2569 โดยขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ 1. ส่งเสริมการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต 2. ส่งเสริมบทบาทของครอบครัวและชุมชนในการป้องกันปัญหา 3. จัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์รวมถึงการคุมกำเนิดที่วัยรุ่นเข้าถึงได้ง่าย 4. การดูแลช่วยเหลือและจัดสวัสดิการสังคมสำหรับวัยรุ่นที่ประสบปัญหา 5. การจัดการความรู้และระบบข้อมูล
กฎหมายออกมาคุ้มครองแม่วัยรุ่นมีพื้นที่ทางสังคมและได้รับคุ้มครองสิทธิ.ท้องแล้วต้องได้เรียน.