‘แม่ทา’ป่าสร้างชีวิต ‘ซีเอสเอ’จากสู่เกษตรยั่งยืน
แม่ทาเป็นตำบลเล็กๆ อันเงียบสงบใน อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศโดยรวมเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อน ดินเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม
ในอดีตพื้นที่แห่งนี้นับได้ว่า เป็นแหล่งลักลอบตัดไม้เถื่อนจากกลุ่มพ่อค้าไม้เถื่อนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ซึ่งเมื่อมีการตัดไม้เป็นจำนวนมาก ผลกระทบอย่างใหญ่หลวงก็ต้องตกอยู่กับคนในพื้นที่
ต่อมาชาวบ้านจึงมีการรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิในการบริหารจัดการป่า เพื่อทวงคืนความอุดมสมบูรณ์ อันหมายถึงพื้นที่ในการทำการเกษตรที่เหมาะสม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดกระบวนการศึกษาเรียนรู้ ที่ชุมชนแม่ทาต่อการเป็นชุมชนต้นแบบ ในการอยู่กับป่าได้อย่างสมดุลและการสานต่ออาชีพเกษตรกรรมจากบรรพชนจนเกิดความยั่งยืน โดยหลังจากที่ชาวบ้านรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งได้แบ่งการจัดการพื้นที่ 6 หมื่นกว่าไร่ในตำบลแม่ทา ออกเป็น 3 กลุ่ม อันได้แก่ “ป่าอนุรักษ์”ประมาณ 4 หมื่นไร่ “ป่าใช้สอย” 1 หมื่นไร่ พื้นที่ที่เหลือนั้นเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านสามารถเข้าอาศัยอยู่ได้
อนันต์ ดวงแก้วเรือน คนแรกๆ ที่ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องและรักษาป่าให้อยู่กับชุมชน เล่าว่า หลังจากที่ชาวบ้านมีที่ทำกินอย่างเหมาะสมได้ไม่นานนัก ก็ประสบปัญหาเพราะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งผลให้ชาวบ้านหลายรายต้องมีหนี้สินอันมาจากค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ฯลฯ และราคาของสินค้าทางการเกษตรที่ผลิตออกมาก็ไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ
“วิถีภูมิปัญญาเก่าๆ หายไปกับคนรุ่นใหม่ เราเอาความเชื่อที่ว่าความมั่นคงของชีวิตก็คือ การได้ทำงานในบริษัทดีๆ ทำงานในเมือง แต่ผมคิดว่าเราจะอยู่แบบนั้นได้นานแค่ไหน ซึ่งในที่สุดเราก็ต้องกลับมาบ้านอยู่ดี ผมจึงบอกว่าเงินทองเป็นของมายา ข้าวปลานั้นสิของจริง” อนันต์ ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากได้เล่าถึงความในใจ
เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองและชุมชน ชาวแม่ทาได้รวมตัวกันเป็นองค์กร เครือข่าย และค่อยๆ พัฒนามาเป็นสหกรณ์ ปัจจุบัน แม่ทา ถือเป็นต้นแบบของตำบลที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีการตั้งสหกรณ์เพื่อพัฒนาคนทั้งในและนอกชุมชนให้เข้าใจถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ยั่งยืนจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกวันนี้แม่ทาจะมีคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจในเรื่องของการเกษตร
อาภากร เครื่องเงิน(ต้น) เป็นคนหนึ่งที่หลังจากเรียนจบแล้วได้เข้าไปทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่ ต้นเล่าว่า ทำงานไปได้สักพักก็รู้สึกได้ว่าเงินที่ได้รับมานั้น ไม่พอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพราะค่าครองชีพในเมืองนั้นสูงมาก และในบางครั้งเขาก็ต้องกลับมาบ้าน และขอเงินจากพ่อแม่เพื่อที่จะไปทำงานต่อ
ต้นเริ่มรู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคงของชีวิต จึงได้หันหลังพร้อมกับโบกมือลาให้กับสังคมเมือง มาทำอาชีพเกษตรกรสานงานต่อจากพ่อแม่ ด้วยความคิดที่ว่าเกษตรกรเป็นอาชีพอิสระ และค่าใช้จ่ายก็ไม่สูง บวกกับไม่ต้องเป็นลูกจ้างจนแก่เฒ่า
ปัจจุบันต้นอายุ 30 ปี หลังจากที่เขาทุ่มเทให้กับงานในแปลงสวน และประสบพบเจอหลายสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ในการพัฒนารูปแบบของการตลาด ต้นจึงนำรูปแบบ การขายผักแบบ ซีเอสเอมาปรับใช้
“ซีเอสเอ” (community-supported agriculture) เป็นระบบการส่งผักจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยผู้บริโภคจะเข้ามารับประกันความเสี่ยงซึ่งหมายถึงการจ่ายเงินล่วงหน้า แล้วค่อยส่งผักให้กับลูกค้าทีหลังเมื่อได้ผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต้นบอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะชาวอังกฤษและอเมริกาเพราะว่ากระบวนการขายแบบซีเอสเอนี้นิยมกันมากในหมู่ประเทศยุโรปขณะนี้มีลูกค้าอยู่ 30 กลุ่ม โดยจะส่งผักให้กับลูกค้าอาทิตย์ละครั้ง
“กับลูกค้าเราไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการที่บอกว่า จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่านี้ หรือส่งผักให้ตรงตามเวลานี้ เรามีเพียงแค่สัญญาใจที่ดีต่อกัน ตอนทำงานอยู่ในเมืองเชียงใหม่ผมได้เงินเดือน 7 พัน แต่พอมาทำเกษตรโดยใช้หลักของซีเอสเอ ผมมีรายรับประมาณ 3 พันต่อสัปดาห์และก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก เพราะทำเกษตรอินทรีย์”
ยุทธศักดิ์ ยืนน้อย (เพิก) เป็นหนึ่งในผู้ที่นำซีเอสเอ มาใช้กับการเกษตร เขาเล่าว่า ขายแบบซีเอสเอ นั้น ถึงแม้ราคาอาจจะแพงกว่าผักที่ขายในท้องตลาด แต่ผลดีก็คือเป็นผักที่ปลอดสารพิษและการขายแบบนี้ทำให้ผู้ผลิตสามารถตั้งราคาเองได้ และไม่ว่าราคาผักในตลาดจะขึ้นหรือลงก็ไม่เป็นอุปสรรค เพราะได้ตกลงราคากับลูกค้าไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
“ส่วนใหญ่คนที่เป็นลูกค้าเรา ก็จะชวนๆ กันมาเราจะพาลูกค้ามาดูเลยว่าวิธีการปลูกของเราเป็นยังไง มีความลำบากหรืออุปสรรคมากน้อยแค่ไหนซึ่งวิธีนี้จะทำให้เขาสามารถเข้าใจได้ว่า ในกระบวนการปลูกผักเพื่อส่งให้พวกเขากินนั้น มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด”
หลังจากที่ตำบลแห่งนี้ต้องเผชิญกับหลากหลายปัญหาที่เข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง อุปสรรคเหล่านั้นทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ในเรื่องของทำการเกษตรกรรมและระบบการจัดการป่า อีกทั้งคนรุ่นใหม่ยังให้ความสนใจงานด้านเกษตรกรรม จึงเชื่อได้ว่าความยั่งยืนได้บังเกิดขึ้นในตำบลแม่ทาแล้ว
เรื่อง: อนุชา ทองเติม
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน