แม่ครัววิถีพุทธต้นแบบโภชนาสงฆ์
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากเว็บไซต์บ้านเมือง
แม่ครัววิถีพุทธฝึกจิตตภาวนา ต้นแบบการเสริมสร้างโภชนาที่ดีของสงฆ์
พระครูภาวนาสารบัณฑิต ผอ.ส่วนธรรมนิเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะพระวิปัสสนาจารย์ และมีหน้าที่ในการบริการโรงครัว เปิดเผยว่า ตามที่สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาจุฬาฯ ร่วมมือกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการ ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี เพื่อสร้างเสริมโภชนาการที่ดีของพระสงฆ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี 2559 นอกจากหลักโภชนาการแล้ว ทางด้านจิตภาพของแม่ครัวก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ มหาจุฬาฯ นั้นได้จัดการศึกษาด้านปริยัติแล้วยังมีภาคปฏิบัติภายใต้การดำเนินการของสำนักวิปัสสนาธุระ โดยนำหลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเข้ามาบูรณาทุกภาคส่วน รวมถึงแม่ครัวที่ทำหน้าที่ในการประกอบอาหารถวายพระนิสิตด้วย เรียกว่า แม่ครัววิถีพุทธ
พระครูภาวนาสารบัณฑิตกล่าวต่อว่า แม่ครัววิถีพุทธซึ่งทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ในฐานะดูแลการประกอบอาหารถวายพระนิสิตของมหาจุฬาฯ จึงมีการหมั่นสื่อสารกันตามหลักอปริหานิยธรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นแม่ครัวที่มีคุณภาพ แม่ครัวมหาจุฬาฯ มีความแตกต่างจากที่อื่น เพราะเป็นแม่ครัวทางธรรม ซึ่งมีการทำงานโดยการใช้หลักพุทธธรรมแบบ 5 ดี ในการบริหารจัดการในหน้าที่ คือ 1.บริการดี หมายถึง การบริการคืองานบุญ มีความสุขในการทำงาน จนทำให้คนรอบข้างมีความสุข ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน 2.บริเวณดี หมายถึง การนำ 5 ส. มาประยุกต์ คือ สะสาง สะอาด สะดวก สุขลักษณะ สร้างนิสัย บริเวณมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดความไว้วางใจด้านความสะอาด
3.บริวารดี หมายถึง ความเป็นกัลยาณมิตร มีการทำงานเป็นทีม ลักษณะที่ว่ามีอาหารแบ่งกันทาน มีงานแบ่งกันทำจากหนักก็เป็นเบา ด้วยการยึดประโยชน์ส่วนตนไว้ที่สอง ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง 4.บริหารดี หมายถึง การรู้จักบริหารตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เป็นที่พึ่งของตนเองจนสามารถให้คนอื่นพึ่งพาอาศัยเราได้ สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข 5.บริกรรมดี หมายถึง มีจิตมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ เน้นการเจริญสติในการทำงาน เริ่มด้วยความสงบจบด้วยความสุขทางใจ ถือว่าเป็นจุดเด่นของแม่ครัวมหาจุฬาฯ เพื่องานที่ดีที่สุด
"สรุปว่า สิ่งที่ทำให้ครัวมหาจุฬาฯ มีคุณภาพ คือการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน อย่างเป็นระบบในฐานะมหาจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านพระพุทธศาสนาของโลก ซึ่งมีพระนิสิตต่างชาติไม่น้อยกว่า 18 ประเทศ มารับบิณฑบาต ฉันภัตตาหารเช้า-เพล ด้วยเหตุนี้ แม่ครัวจึงต้องมีการพัฒนาตามหลักภาวนา 4 คือ พัฒนากาย พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญาอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์อันสูงสุดของมหาจุฬาฯ เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลาย ดังนั้น แม่ครัวทุกคนทำงานหนักด้วยความเสียสละ ตั้งใจ สมควรได้รับการยกย่อง ชื่นชม อนุโมทนาบุญ" พระครูภาวนาสารบัณฑิตกล่าว