“แพทย์ไทย” คิดยาเอดส์สูตรเด็กเผยแพร่ทั่วโลก

ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน

 

“แพทย์ไทย” คิดยาเอดส์สูตรเด็กเผยแพร่ทั่วโลก

          ทีมแพทย์เชียงใหม่เสนอผลการรักษาผู้ป่วยเด็กด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ลดขนาดจากยาผู้ใหญ่ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ช่วยเด็กมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่า 90% โดยมีน้ำหนัก ส่วนสูงและภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น

 

          ศ.พญ.วิรัต ศิริสันธนะ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยจะเป็นประโยชน์ในด้านการนำไปเผยแพร่ต่อสถานพยาบาลอื่นทั่วประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลกนำไปใช้อ้างอิง ในการทำแนวทางการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในเด็ก

 

          ข้อมูลที่ได้จากผลงานวิจัย จะเป็นแนวทางในการรักษากลุ่มเด็กไทย ที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีทั่วประเทศได้อย่างมีศักยภาพ ในด้านการสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย ให้กลับสู่ภาวะปกติ ลดการบาดเจ็บและอัตราการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน ทำให้เด็กติดเชื้อเอดส์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนักวิจัยกล่าว

 

          ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์สำหรับเด็กในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากไม่มียาน้ำแบบรวม ที่มีอยู่เป็นยาน้ำแยกชนิด ซึ่งต้องใช้ถึง 3 ชนิด ทำให้มีความลำบากในการเก็บ การกิน ทั้งยังมีราคาสูง จนกระทั่งปี 2545 ทีมวิจัยเห็นผลดีของการใช้ยาต้านไวรัสชนิดรวมเม็ด ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมไทย ที่ได้มีการใช้ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ จึงได้นำมาใช้ในเด็ก

 

          โครงการวิจัยมีผู้ป่วยเด็กกว่า 200 คน โดยขณะเริ่มให้ยาเด็กมีอายุเฉลี่ย 7.3 ปี ถึงปัจจุบันเด็กได้รับยามาแล้ว 3-6 ปี ยาต้านเอดส์ที่ใช้ในโครงการ เป็นยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมไทยเป็นส่วนใหญ่ เช่นยา gpovir s-30 ที่ใช้ในผู้ใหญ่ โดยผู้วิจัยได้ใช้วิธีแบ่งเม็ดให้เด็กกินตามน้ำหนักตัว

 

          ศ.พญ.วิรัต เล่าว่า ประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสเอดส์ดังกล่าวอยู่ในขั้นดีมาก เด็กมีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้น  เด็กมีภูมิต้านทานกลับสู่ภาวะปกติ และยาต้านไวรัส สามารถกดปริมาณไวรัสในเลือดของเด็กลงได้  ทั้งอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตลดลง ผลข้างเคียงระยะสั้นคือ ผื่น ไข้ ตับอักเสบจากยาเรวิราพีน พบเพียงร้อยละ 5 ผลข้างเคียงระยะยาว ไม่อยู่ในระดับรุนแรงจนต้องใช้ยารักษา

 

          ขณะเดียวกัน นักวิจัยเตือนว่า การจัดยาต้านเอดส์สำหรับเด็ก ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้นเพื่อป้องกันการดื้อยา เนื่องจากตัวยาที่ใช้ศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยยาหลายชนิดหรือที่เรียกว่า สูตรค็อกเทล

 

          เมื่อเด็กได้รับยาต้านไวรัสจนมีภูมิต้านทานดีแล้ว ผู้วิจัยได้ฉีดวัคซีนตับอักเสบบี สมองอักเสบเจอี หัด คางทูม หัดเยอรมัน ซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก พบว่า เด็กเหล่านี้สามารถสร้างภูมิต้านทาน จนถึงระดับที่ป้องกันโรคได้ถึงร้อยละ 92, 88, 90, 78 และ 100 ตามลำดับ

 

          องค์ความรู้จากการวิจัยดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ระดับนานาชาติ 15 ฉบับ เป็นบทคัดย่ออีก 1 ฉบับ และยังได้รับรางวัล ผลงานวิจัยชมเชย สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2551 จากสภาวิจัยแห่งชาติอีกด้วย

 

          ทีมวิจัย ประกอบด้วย พญ.ธันยวีร์  ภูธนกิจ พญ.เพณณินาท์ โอเบอร์ดอร์เฟอร์ พญ.ลินดา เอื้อไพบูลย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ นพ.นภดล อัครธรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง พญ.สุภารัชต์ กาญจนวณิช โรงพยาบาลนครพิงค์ และ พญ.พรพรรณ วรรณฤทธิ์ โรงพยาบาลลำพูน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update 04-12-51

Shares:
QR Code :
QR Code