แพทย์แนะ อกหักคิดสั้นอย่าอยู่คนเดียว
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
จิตแพทย์ห่วง "คนอกหักคิดสั้น" แนะอย่าอยู่คนเดียว ชี้ "ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย" เหตุคนติดโซเชียลฯ เตือนผู้พบเห็นให้การช่วยเหลือ อย่าต่อว่า ท้าทาย ส่งเสริม ระวังพฤติกรรมเลียนแบบ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และจิตแพทย์ กล่าวว่า เรื่องการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นอยู่แล้ว คนที่มีความคิดที่อยากทำร้ายตัวเองหากดูการศึกษาย้อนหลังจะอยู่ภายใต้ภาวะความกดดันภายใต้จิตใจ อยากทำร้ายตัวเอง สับสน ไม่สบายใจ ทางจิตวิทยาเรียกว่าเป็นการขอความช่วยเหลือ ส่งสัญญาณ ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะสื่อสารความทุกข์ของตัวเองให้คนอื่น หรือคนที่มีความขัดแย้งรับรู้ด้วยวิธีการสื่อสารต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็เป็นไปตามยุคสมัย เช่น เขียนไดอารี่ ส่งเอสเอ็มเอส โทรศัพท์
แต่ปัจจุบันมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เรื่องการไลฟ์สดก็เป็นรูปแบบพฤติกรรมใหม่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ตัวเขา ตอนที่ทำร้ายตัวเองเพื่ออยากให้คนที่เป็นคู่ขัดแย้งรับรู้ แต่การมาใช้เทคโนโลยีแบบนี้กลับกลายเป็นการเผยแพร่ในวงกว้าง เรื่องนี้ก็จะตามมาด้วยว่าแล้วคนในสังคมจะทำอย่างไร เพราะได้รับรู้ไปแล้ว ดังนั้นคนที่เห็นก็ต้องกลับมามองปรากฎการณ์อย่างเข้าใจ หากเขายังไม่ได้ลงมือ ก็อย่าไปต่อว่า ท้าทาย ส่งเสริม แต่ให้ความช่วยเหลือเขาเท่าที่ทำได้ ดึงเขาออกมาจากสิ่งที่กำลังจะลงมือ
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า ตอนนี้ คนที่คิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายนั้นพบว่าเกือบครึ่งต่อครึ่ง เกิดจากการเจอเรื่องอะไรบางอย่างที่มีผลต่อภาวะอารมณ์แบบทันที บางคนเป็นเรื่องที่สะสมมา แล้วมาถึงจุดที่คิดทำร้ายตัวเอง พอมีเรื่องกระทบก็มีความคิดขึ้นมาทันที และในความเป็นจริงก็มีทั้งกลุ่มที่ตั้งใจทำจริง และต้องการประชดประชันคนที่มีความรู้สึกด้วย แต่เรื่องของวิธีการพบว่าผู้ชายมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายมักจะเลือกวิธีที่รุนแรงทำให้เสียชีวิตในทันที แต่หากผู้หญิงอาจจะเลือกวิธีที่เบาลง ทำให้ยังพอมีเวลาให้การช่วยเหลือได้ แต่ช่วงตัวอารมณ์จะคล้ายๆ กันคือ เป็นการตัดสินใจเวแว๊บเดียว จากการเก็บข้อมูลจากคนที่รอดจากการฆ่าตัวตายบอกว่า ตอนลงมือเป็นแค่อารมณ์วูบเดียว
“เวลาที่เราเกิดความผิดหวัง ตัวอารมณ์จะมีธรรมชาติของอารมณ์ เป็นอารมณ์ท่วมท้น ระยะแรกจะรู้สึกแน่มาก แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปจะค่อย ๆ ผ่อนคลายลง ตอนที่ยากที่สุดคือตอนที่เรารู้สึกว่าจะทนไม่ได้ เวลาตอนนั้นไม่ควรอยู่เพียงลำพัง เพราะความคิด การตัดสินใจในช่วงที่อารมณ์ท่วมท้นมักจะมีปัญหาหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เช่น เราทำร้ายตัวเองแล้วเขาจะเสียใจ มันเป็นเพียงความคิดของเราเอง ดังนั้นเวลาแบบนี้ควรหาเพื่อนพูดคุย และอยู่กับเรา แต่ไม่ต้องไปไลฟ์สด เรามั่นใจว่าในชีวิตเรามีคนที่อยากอยู่เป็นเพื่อนกับเราในเวลาที่เรารู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต พอมันผ่านไปก็เป็นโอกาสเสมอสำหรับการทำความเข้าใจกับความรัก ความรักเป็นเรื่องของการเรียนรู้ของทั้งสองฝ่าย โทษเขามากเราก็โกรธ โทษตัวเองมากเราก็เป็นทุกข์ เรื่องคนสองคนเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ อกหักเดี๋ยวก็หายแล้วเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ที่มั่นคงขึ้น เรียนรู้จากสิ่งที่ผ่านมา อกหักบ้างก็ได้” พญ.พรรณพิมล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าปรากฎการณ์การไลฟ์สดการทำร้ายตัวเองเยอะขึ้น เป็นเพราะคนเสพติดโซเชียลมีเดียหรือเพราะอะไร พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ก็ใช่ด้วย ตอนนี้ทุกเรื่องในชีวิตเราไปอยู่บนโซเชียลมีเดีย กินข้าว หรือทำอะไรต้องเอามาเล่าลงโซเชียล ซึ่งเล่าชีวิตตัวเองกันเยอะมาก ง่ายมาก ทำได้ทุกวัย จนเหมือนเป็นเรื่องปกติที่ต้องเล่าเรื่องตัวเองออกมา ยิ่งช่วงที่มีภาวะอารมณ์มากก็ยิ่งอยากจะเล่าระบายอารมณ์ผ่านโซเชียลฯ ทุกเรื่อง ถ้าสังเกตตอนนี้ถ้าคนไปเจอเหตุการณ์อะไรบางอย่างสิ่งที่ทำคือยกโทรศัพท์มือถือมาถ่ายวิดีโอ
"อย่างไรก็ตามเรื่องการของฆ่าตัวตายนั้น หากมีการเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง จากการศึกษาพบว่ามีผลทำให้เกิดการลอกเลียนแบบได้ โดยเฉพาะคนที่กำลังอยู่ในห้วงของอารมณ์ที่อ่อนไหว หรือมีปัญหาแบบเดียวกันอยู่ เพราะฉะนั้นขอความร่วมมืออย่าแชร์ อย่าส่งต่อข้อมูลเหล่านี้เลย ขณะเดียวกันครอบครัวไหนที่มีคนในครอบครัวที่อยู่ในสภาวะอารมณ์อ่อนไหวก็ขอให้ช่วยกันดูแล" รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีมาตรการในการดูแลป้องกันได้อย่างไร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่จริงหลายประเทศก็จะทำเหมือนระบบการเฝ้าระวังเมื่อมีสัญญาณที่สื่อไปทางที่จะมีคนทำร้ายตัวเองก็จะมีการระงับสัญญาณ ไม่ให้มีการเผยแพร่ต่อไปในวงกว้าง ซึ่งก็ต้องเป็นคนดูแลระบบ แต่เป็นที่รู้กันว่าไม่ได้ทำง่าย แต่ก็มีความพยายาม ไม่ปล่อยให้มีการเผยแพร่ยาวนาน อีกส่วนคือฝั่งคนรับสารจะทำอย่างไรไม่ให้มีการส่งต่อไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย มีความพยายามที่จะมีกฎหมายมาดูแล ซึ่งเรื่องของการฆ่าตัวตายจะจัดอยู่ในกลุ่มของการก่อความรุนแรง เพราะแม้เกิดต่อตัวเอง แต่ก็กระทบกับผู้อื่นด้วย จึงคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีการส่งต่อผ่านสื่อรูปแบบใหม่ๆ แต่วิธีปฏิบัติทำได้ยากเพราะเคยมีประเด็นว่ากลายเป็นการตั้งใจละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลหรือไม่ ตอนนี้จึงพยายามทำเรื่องการบล็อคการเผยแพร่ ทำงานกับคนที่ดูแลระบบที่พอทำได้ และให้ความรู้กับสังคมเรื่อยๆ