แพทย์แนะแนวทางห่างไกลโรค ‘มือ เท้า ปาก’

หลังจากบิดาของเด็กหญิงวัย 2 ขวบ ที่เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุที่โรงพยาบาล (รพ.) นพรัตน์ราชธานี กรุงเทพมหานคร ออกมาเปิดเผยว่า แพทย์ตรวจพบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ในลำคอลูกสาว เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังไม่ฟันธงว่าเป็นเชื้อตัวเดียวกับสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ ซึ่งความชัดเจนของเรื่องนี้จะกระจ่างหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ระบาดวิทยา และโรคติดเชื้อ ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้

แพทย์แนะแนวทางห่างไกลโรค 'มือ เท้า ปาก'

แต่อีกด้านหนึ่ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าการเสียชีวิตของเด็กหญิงรายดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่พบในลำคออย่างไร แต่ข้อเท็จจริงคือ เชื้อตัวนี้ก่อให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับโรคมือ เท้า ปาก คือ ส่งผลต่อระบบประสาท เช่น เกิดภาวะสมองอักเสบได้ในบางราย แต่บางครั้งก็อาจไม่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท สิ่งสำคัญต้องเน้นการดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก เด็กโต หรือผู้ใหญ่ เรียกว่าทุกกลุ่มอายุ เพราะหากมีสุขลักษณะที่ดีอย่างสม่ำเสมอ นอกจากห่างไกลโรคมือ เท้า ปากแล้ว ยังปลอดโรคอื่นๆ ได้ด้วย

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ในการทำความสะอาดกำจัดเชื้อก่อโรคนี้ ทำได้ไม่ยาก แต่ก่อนอื่นขอย้ำว่า การใช้เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ 70% แม้จะฆ่าเชื้อโรคทั่วไปได้ แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้ ดังนั้น วิธีทำความสะอาดที่เหมาะสม คือ ต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เพื่อชะล้างเชื้อจากผิวหนัง ส่วนการฆ่าเชื้อที่พื้นและอุปกรณ์จะต้องใช้โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (sodium hypochlorite) 0.5% เช่น ไฮเตอร์ คลอร็อกซ์ (clorox) ในกรณีที่เป็นผง ให้ใช้ขนาด 5 กรัม กับน้ำ 950 ซีซี เก็บไว้ใช้ได้นาน 7 วัน ยกเว้นถ้าเปลี่ยนสี แสดงว่าหมดอายุต้องทิ้ง เตรียมใหม่ น้ำยานี้ใช้ทำความสะอาดพื้นผิว สิ่งของ เครื่องใช้ ชุบน้ำยาชุ่มเช็ดบนพื้นผิวที่ต้องการ หรือราดที่พื้น ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วจึงล้างหรือเช็ดออก นอกจากนี้ ต้องนำอุปกรณ์ที่ทำความสะอาดแล้วไปตากแดดให้แห้ง จะทำให้การกำจัดเชื้อได้ดีขึ้น

ขณะที่ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ สธ. ให้คำแนะนำว่า การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ จัดเป็นวิธีที่ฆ่าเชื้อโรคมือ เท้า ปากได้ ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคจึงเน้นการป้องกันด้วยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ การล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ หรืออาจใช้มาตรการที่เรียกว่า “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้กรณีการทำความสะอาดในโรงเรียนต้องทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่เปื้อน เช่น เปื้อนอุจจาระเด็ก ให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วไปก่อน หากจะฆ่าเชื้อนี้ควรใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมคลอรีน เช่น ไฮเตอร์ คลอร็อกซ์ ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออก หากสิ่งของที่จะเอาเข้าปาก เช่น เครื่องครัว ของเล่นที่จะเอาเข้าปาก ให้ใช้ล้างทั่วไปด้วยน้ำสบู่ ผงซักฟอก แล้วตากแดด ถ้าสามารถต้มได้ ให้ต้มในน้ำเดือด 10 นาที และไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดพื้นผิว เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ส่วนกรณีการใช้สระว่ายน้ำสาธารณะ ต้องมีการเติมคลอรีนให้ได้มาตรฐาน ซึ่งโดยปกติการจะเปิดสระว่ายน้ำจะผ่านการรับรองความสะอาด ปลอดเชื้ออยู่แล้ว

“สิ่งสำคัญแนะนำผู้ปกครองให้สังเกตอาการของลูก โดยเน้นการเฝ้าระวังสัญญาณอันตราย ได้แก่ อาการไข้สูงร่วมกับอาเจียน หรือซึม หรือกระตุก หรือชัก หรือหายใจหอบเหนื่อย หากเด็กเป็นต้องรีบพาไปพบแพทย์ แต่หากพบเพียงมีไข้ อาจให้หยุดเรียนสังเกตอาการก่อน โดยถ้ามีไข้ให้เช็ดตัว กินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามกินยาแก้ปวดชนิดอื่น โดยเฉพาะยาแอสไพริน กินอาหารอ่อน ระมัดระวังการติดต่อสู่เด็กคนอื่นในบ้าน ไม่พาไปสถานที่มีผู้คนแออัด

แค่ดูแลสุขลักษณะส่วนบุคคลให้ดี ก็มั่นใจได้ว่า…ห่างไกลจากโรคมือ เท้า ปากแน่นอน!

 

 

 ที่มา :หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code