แพทย์เผย ‘ยาลดความอ้วน’ ทำป่วยซึมเศร้า
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิต ย้ำชัด “ยาลดความอ้วน” ทำคนป่วยซึมเศร้า เหตุสารสื่อประสาทเสียสมดุล นำสู่การทำร้าย-ฆ่าตัวตาย เผยผลสำรวจพบโจ๋ไทย ฮิต กินยาลดอ้วนกว่า 7.9 แสนคน หวั่นอนาคตป่วยซึมเศร้าพุ่ง
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคซึมเศร้าซึ่งเป็นภัยเงียบในสังคม มีคนไทยป่วยประมาณ 1.5 ล้านคน ร้อยละ 40 ยังไม่เข้ารักษาเพราะคนส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่โรค แต่เป็นลักษณะนิสัยของผู้ที่เข้าข่ายเรียบร้อยจึงมองข้ามปัญหานี้ไป ทั้งนี้การกินยาลดความอ้วนมีส่วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าด้วย เนื่องจากมีการผสมสารไซบูทรามีน และสารเฟนเทอมีน ซึ่งนอกจากออกฤทธิ์กดสมองส่วนความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกเบื่ออาหารและไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวจึงลดลง แล้วสารดังกล่าวยังไม่มีผลทำให้เพิ่มระดับของสารสื่อประสาทสำคัญ 3 ตัว คือ 1.สารซีโรโทนินที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ความโกรธ ความหิว การรับรู้และความเจ็บปวด 2.สารนอร์อิฟิเนฟฟรีน ควบคุมการตื่นตัว กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและควบคุมการแสดงออกเวลาที่รู้สึกกลัว และ 3.สารโดปามีน ควบคุมสมาธิ อารมณ์ ความรู้สึกคล้ายกัน โดยปกติร่างกายจะหลั่งสาร 3 ตัวออกมาในอัตราส่วนที่เท่าๆ กันหรือสมดุลกัน หากหลั่งสารชนิดใดชนิดหนึ่งมากกว่าจะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ และหากสารนี้ทำงานมากเกินปกติอาจมีผลทำให้เกิดอาการหูแว่ว หวาดระแวง เห็นภาพหลอนได้เช่นกัน นำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในชีวิต เช่นการฆ่าตัวตายเป็นต้น
“ตอนนี้สถานการณ์การใช้ยาลดคาวามอ้วนของคนไทยอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ซึ่งจากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 พบว่ามีผู้กินยาลดความอ้วนร้อยละ 1.5 คาดว่าประมาณ 790,000 คน พบสูงที่สุดในผู้หญิงอายุ 15-29 ปี ร้อยละ 5.3 จึงน่ากังวลมาก โดยเฉพาะคนที่โยโย่เพราะร่างกายหลังสารกระตุ้นสมองให้เกิดความอยากอาหารเพิ่มขึ้น 2 เท่า ยิ่งกิน ยิ่งอ้วน ยิ่งเครียดไม่อยากจะคน ” นพ.บุญเรือง กล่าว
ด้านนพ.ประภาส อุครานันท์ ผอ.รพ.พระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า คนใช้เฟนเทอร์รามีนมีโอกาสป่วยมากกว่าคนกินไซบูทรามีนประมาณ 1.2 เท่า และเมื่อซึมเศร้าจะมีความสัมพันธ์กับความคิดทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตายร้อยละ 3.6 อย่างไรก็ตาม นอกจากสาร 2 ตัวนี้แล้วยังพบมีการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ามาใช้ลดความอ้วน ที่นิยมคือยาฟลูออกซิทิน ซึ่งศูนย์ลดน้ำหนักหลายแห่งมักนำมาใช้ โดยอาศัยผลข้างเคียงของตัวยาคือทำให้เบื่ออาหาร โดยเฉพาะใช้ในขนาดสูง จึงมีผลข้างเคียงทางจิตทำแบบคึกคัก ครื้นเครง ร่าเริงเกินเหตุ แบบแมเนียได้และถ้ากินร่วมกับไซบูทรามีนและยาเฟนเทอมีน จะทำให้มีโอกาสเกิดอาการทางจิตสูงกว่าปกติหลายเท่าตัว ดังนั้นประชาชนที่มีปัญหาอ้วน น้ำหนักตัวมากขอให้ใช้วิธีการลดหรือควบคุมน้ำหนักโดยการออกกำลังกายดีที่สุด อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที นอกจากสุขภาพดีแล้วยังหลั่งสารแห่งความสุขคือเอ็นดอร์ฟีน ช่วยลดความเครียด นอนหลับดี ไม่ควรพึ่งยาลดน้ำหนักเพราะจะส่งผลให้สถานการณ์โรคซึมเศร้าของไทยบานปลาย รุนแรงขึ้นในอนาคต แนวโน้มผู้ป่วยมีอายุน้อยลง