แพทย์เตือน ‘กินเค็ม’ เสี่ยงความดันสูง
พบคนไทยป่วยไม่รู้ตัวกว่า 10 ล.คน
แพทย์ออกโรงเตือนผู้นิยมทานเค็ม ระวังโรคความดันโลหิตสูง เผยปัจจุบันพบคนไทยป่วย 10 ล้านคน ชี้พฤติกรรมการบริโภคคือ ปัจจัยเสี่ยงของโรคร้าย ภาคเหนือ ครองแชมป์ตัวเลขผู้ป่วย ขณะที่ภาคใต้พบน้อยสุด
รศ.น.พ.พีระ บูรณะกิจเจริญ แพทย์ที่ปรึกษาภาควิชาโรคความดันโลหิตสูง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะอุปนายกสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เกลือ” เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิต สูง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจโต โรคไต โรคทางตา โรคหลอดเลือดแดงตีบ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของโลก
จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันคนไทยบริโภคเกลือเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะ คนที่มีอายุระหว่าง 40 – 49 ปี คนกลุ่มนี้ บริโภคเกลือมากขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่า และยังเป็นกลุ่มอายุที่มักพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยพบว่าในภาคเหนือ มีจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิต สูงมากที่สุดรองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง กรุงเทพฯ ภาคอีสานและภาคใต้ตามลำดับ
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า แนวโน้มตัวเลขผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทยสูงขึ้น ร้อยละ 71 และคาดว่าจะมีผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่รู้ตัวว่ากำลังมีภาวะความดันโลหิตสูง และในจำนวนนี้มีผู้เข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 60 ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ทราบสาเหตุของการ เกิดโรค
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แพทย์จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 95 ซึ่งไม่ทราบสาเหตุ ของการเกิดโรค ทำให้จำเป็นต้องรักษาที่ปลายเหตุ โอกาสที่จะรักษาโรคให้หายขาดได้จึงมีค่อนข้างน้อย ซึ่งปัจจุบันแพทย์สามารถควบคุมการรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ถึงเป้า มีเพียงประมาณร้อยละ 30
ขณะที่ พ.ญ.วิไล พัววิไล แพทย์ ที่ปรึกษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะเลขาธิการสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคความดันโลหิตสูงนั้นมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ 1. ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ ประวัติครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นโรคความดันโลหิตสูง ทำให้โอกาสที่บุตรจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีมากขึ้น และผู้ชายมักเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้หญิง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะส่งผลให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงเหมือนผู้ชายใน
2. ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ ได้แก่ การรับประทานอาหารรสเค็ม หรืออาหารไขมันสูง รวมทั้งอ้วน มีความเครียดมาก การขาดการออกกำลังกาย หรือเป็นโรค เบาหวาน โรคไต โรคความดันโลหิตสูง ในผู้ใหญ่นั้นประมาณร้อยละ 95 ไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จึงรักษาที่ปลายเหตุ การรักษาโรคความดันโลหิตสูงแบ่งได้ 2 แบบคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการกินยา
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น อ้วนให้ลดน้ำหนัก ลดการกินเค็ม เกลือ น้ำปลา ลดการกินไขมันจากสัตว์บก (เนื้อ สัตว์บกไม่ติดมัน) กินผัก ผลไม้ (ไม่หวานจัด) มากๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ พยายามไม่เครียด
พ.ญ.วิไล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ซึ่งในแต่ละกลุ่ม จะมีการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน แต่มีประโยชน์ต่อคนไข้แต่ละกลุ่ม ซึ่งแพทย์สามารถสั่งจ่ายยาให้แก่คนไข้ในครั้งแรกที่เข้ารับการรักษาได้เลย อาทิเช่น ยาขับปัสสาวะ ตัวยาในกลุ่ม ace-i (angiotensin converting enzyme inhibitor), arb (angiotensin receptor blockers) เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ทางการแพทย์ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง (ดังกล่าวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม) วิธีการหนึ่งก็คือลดการกินเกลือ ทาง who (ของการอนามัยโลก) แนะนำไม่ควรทานเกลือหรืออาหารที่มีเกลือแกง (sodium chloride) มากกว่า 6 กรัมหรือ 1 ช้อนชาต่อวัน แต่ต่อมาก็พบว่ายังมากเกินไป สำหรับแพทย์แนะนำรับประทานเกลือหรืออาหารที่มีเกลือแกง (sodium chloride) ไม่เกินครึ่งช้อนชาต่อวัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ
update 01-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก