แพทย์เตือนฟันปลอมเถื่อนเสี่ยงเพดานปากทะลุ
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
แพทย์เตือนฟันปลอมเถื่อนเสี่ยงเพดานปากทะลุ ฟันปลอมต้องทำโดยทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ "หมอฟันชื่อ นะTM" ทวีตภาพและข้อความเตือนไปยังคนไข้ให้ระวังฟันปลอมเถื่อนแบบมีจุกยางที่เพดานปากนั้น ฟันปลอมลักษณะดังกล่าวมักพบในฟันปลอมทั้งปากชนิดถอดได้ที่ทำโดยบุคคลที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ ทำให้ไม่สามารถทำฟันปลอมให้พอดีกับกระดูกขากรรไกรของคนไข้ได้จึงจำเป็นต้องติดตัวดูดที่ทำจากยางที่ฐานฟันปลอมบน เพื่อใช้ดูดกับเพดานปากไม่ให้ฟันปลอมบนหลวมหลุด ซึ่งมีผลให้เพดานปากเกิดรอยแดงจากตัวดูด หากใส่ฟันปลอมแบบนี้เป็นระยะเวลานานแรงดันจากตัวดูดจะไปกดเหงือกทำให้เลือดไม่สามารถมาเลี้ยงบริเวณดังกล่าวได้ จึงทำให้เกิดการละลายของกระดูกเพดานปากส่งผลให้เพดานปากทะลุเป็นรูใหญ่เชื่อมระหว่างช่องปากและโพรงจมูก ซึ่งคนไข้จะมีอาการพูดไม่ชัด เวลาพูดมีลมออกจมูก หรือเกิดอาการสำลักเวลาดื่มน้ำและรับประทานอาหาร หรือคนไข้บางรายอาจเกิดแผลหรือก้อนเนื้อในภายหลังได้
ด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า การทำฟันปลอมเป็นการทำขึ้นเพื่อทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติที่หายไป โดยฐานที่ใช้ยึดกับกระดูกขากรรไกรในปากที่ทำจากอะคริลิกหรือโลหะ สามารถแบ่งฟันปลอมออกเป็น 2 ชนิด คือ ฟันปลอมทั้งปากที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติ ในกรณีที่ไม่มีฟันเหลืออยู่เลย และฟันปลอมบางส่วนที่ทำขึ้นทดแทนฟันบางซี่ที่หายไป และเป็นการใส่เพื่อช่วยไม่ให้ฟันซี่ที่เหลือล้มเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่งประโยชน์ที่สำคัญของฟันปลอม คือ ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้ดีขึ้น รวมถึงยังช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟันปลอมต้องทำโดยทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น และควรมีการ เตรียมช่องปากก่อนทำฟันปลอม เช่น อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ นอกจากนี้ วัสดุเครื่องมือที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน มีการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง คนไข้ควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากและทำความสะอาดฟันปลอมอย่างถูกวิธี