แพทย์รามาหวังช่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ทีมวิจัยเผยใช้สเต็มเซลล์ช่วยเยียวยา

 แพทย์รามาหวังช่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

          แพทย์รามาธิบดีวิจัยสเต็มเซลล์หวังช่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องตัดทิ้งมีหน้าอกเหมือนเดิม ตั้งเป้าเริ่มทดสอบในกลุ่มผู้ป่วยที่ตัดเต้านมทิ้งบางส่วน อิงผลวิจัยต่างประเทศ อิตาลีทำแล้วกว่า 20 เคส คาดอีก 5-10 ปี การรักษาด้วยสเต็มเซลล์จะใช้ได้จริง

 

          พญ.เยาวนุช คงด่าน ศัลยแพทย์และอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า หลายประเทศเริ่มศึกษาเทคนิครักษามะเร็งเต้านมด้วยสเต็มเซลล์ และทีมวิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดีกำลังดำเนินการศึกษาเทคนิคนี้อยู่เช่นกัน

 

          ทีมวิจัยรามาฯ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคนำไขมันจากหน้าท้อง หรือบั้นเอวมาปั่นเพื่อให้ได้สเต็มเซลล์ แล้วนำสเต็มเซลล์มาฉีดเพื่อฟื้นฟูหน้าอกที่ถูกตัดทิ้งของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งในอิตาลี มีผลวิจัยออกมากว่า 20 เคสแล้ว ขณะที่ญี่ปุ่นก็ทุ่มเงินวิจัยจำนวนมากทางด้านนี้พญ.เยาวนุช กล่าวถึงทิศทาง

 

          เบื้องต้นนี้ ทีมวิจัยกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาให้ละเอียด และคาดว่า จะเริ่มวิจัยและทดสอบในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องตัดเต้านมทิ้งบางส่วน จนทำให้เต้านมเกิดรอยบุ๋ม โดยทีมวิจัยตั้งเป้าทดสอบนำสเต็มเซลล์ไปฉีดบริเวณรอยบุ๋มเพื่อให้ผิวบริเวณนั้นฟื้นตัว สร้างเนื้อให้อยู่ในรูปทรงดังเดิม

 

          ถึงกระนั้น งานวิจัยดังกล่าวคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง โดยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า คงยังไม่มีผลที่ชัดเจนออกมาให้เห็น เพราะต้องดูให้ละเอียดในแง่ของความคงตัวของสเต็มเซลล์ ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงของสเต็มเซลล์ที่ฉีดเข้าไป เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงมากเกินไปก็อาจจะกลายเป็นเนื้อร้ายได้

 

          เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เสริมสร้างความมั่นใจ แม้จะต้องตัดหน้าอกทิ้งก็จะสามารถมีหน้าอกที่เหมือนดังเดิมได้ สเต็มเซลล์ก็จะเป็นหนึ่งในวิทยาการที่จะนำมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมในอีก 5-10 ปีข้างหน้าศัลยแพทย์หญิงจากรามาธิบดี กล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update : 19-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code