แพทย์ชี้เด็กม๊อบจริยธรรมผิดปกติ
ซึมซับความก้าวร้าว
จิตแพทย์ ชี้ ‘เด็ก – คนชรา‘ ร่วมม็อบเผยเด็กจะซึมซับความก้าวร้าวเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติอนาคตจะทำให้ “ต่อมจริยธรรม” บกพร่อง ชี้ความรุนแรงสร้างผลเสียทางร่างกายจะเห็นว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป งอแงมากขึ้น เบื่ออาหาร หรือกระทั่งนอนไม่หลับ ในอนาคตอาจเป็นหนึ่งในผู้ก่อเหตุรุนแรง ขณะที่คนแก่มีโอกาส “ช็อค” ถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่ายเพราะสุขภาพกาย-จิตถดถอย
ทำไมหลายๆ ฝ่ายจึงมีความห่วงใยบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้ จนกระทั่งมีความพยามยามที่จะกันกลุ่มคนเหล่านี้ออกนอกพื้นที่การชุมนุม นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมนารมณ์ ให้ทัศนะว่า ในเบื้องต้นกลุ่มเด็กและคนชราที่เข้าร่วมชุมนุมนั้น คนทั่วไปจะสามารถสังเกตเห็นได้โดยง่ายว่าจะมี ความเครียดอันเกิดจากการอดหลับอดนอน ในขณะเดียวกันก็ต้องทนสภาพแวดล้อมที่ร้อน อบอ้าว มีกลิ่นจากสิ่งไม่พึงประสงค์ ซึ่งนี่คือต้นเหตุแรกๆ ที่จะทำให้พวกเขาเกิดปัญหาทางด้านจิตใจ ขณะที่ปัญหาทางด้านร่างกายก็จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เพราะในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว การพักผ่อน อาหารอาจจะไม่ถูกสุขอนามัย จะทำให้เกิดความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ปวดตามร่างกาย
“เด็กและคนแก่ที่เข้าร่วมการชุมนุม บางคนอยู่ในพื้นที่ชุมนุมนานกว่าสองเดือน จะทำให้มีปัญหาทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ไหนจะเจอแรงกระตุ้นจากการปลุกเร้า ไหนจะถูกกดดันจากสังคม ซึ่งคนทั้งสองกลุ่มนี้มีสภาพความพร้อมไม่มากนัก โดยเฉพาะคนแก่หากถูกกดดันมากๆ ในทุกๆ ด้านอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้”
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมนารมณ์ อธิบายอีกว่า เด็กที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมเมื่อเห็นภาพรุนแรงมีผลกระทบโดยตรงกับเด็ก ทั้งเด็กที่อาจจะได้รับบาดเจ็บและไม่ได้รับบาดเจ็บ ผู้ปกครองจำเป็นต้องประเมินในการให้เด็กเข้าไปอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น เพราะยิ่งเป็นเด็กเล็ก จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร จะเกิดความกลัว ซึ่งจะมีผลกระทบที่สังเกตได้คือ เด็กเลี้ยงยากขึ้น กินยาก นอนยาก ส่วนผลกระทบจิตใจอาจส่งผลในระยะยาว โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่เห็นเหตุการณ์โดยเฉพาะการที่ให้เด็กได้รับรู้ความรุนแรง หรือฟังคำพูดที่หยาบคาย ในอนาคตอาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านจริยธรรม พ่อแม่จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณและไม่ควรปลูกฝังความเกลียดให้กับเด็ก แต่ควรอธิบายเหตุผลเพื่อสร้างความฉลาดทางอารมณ์
“เด็กที่เห็นและสัมผัสอยู่กับบรรยากาศที่มีความตึงเครียด มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงไม่ใช่แค่การทำร้ายร่างกายเท่านั้น แต่การใช้คำพูดที่รุนแรง น้ำเสียงดุดัน ก็ถือเป็นความรุนแรงได้ ดังนั้น เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมการชุมนุม ได้ฟังการปราศรัยก็มีโอกาสที่จะซึมซับและเลียนแบบวิธีการพูดดังกล่าวได้ในอนาคต ที่น่ากลัวคือในอนาคตเด็กกลุ่มนี้จะมองเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมในอนาคต”
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ
Update: 27-05-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่