แบ่งปันฯ ผนึก ม.ศรีปทุม-ไมโครซอฟท์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ

เผยมีองค์กรพัฒนาเอกชนสมัครเพียบ ระบุเป็นนวัตกรรมใหม่ทางสังคมของไทย

 

              นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานกรรมการโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน เปิดเผยว่า ทางโครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับโครงการ ศรีปทุม ยูเอสอาร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม เปิดโอกาสให้องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยเข้าร่วม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งมีองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ เกือบ 30 องค์กร อาทิมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง มูลนิธิกองทุนไทย มูลนิธิกระจกเงา ฯลฯ

  

แบ่งปันฯ ผนึก ม.ศรีปทุม-ไมโครซอฟท์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ

 

               ทั้งนี้กิจกรรมหลักของโครงการคือ การจัดการอบรมเพิ่มพูนความรู้ และทักษะด้านการบริการจัดการต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญด้านไอที ซึ่งทักษะดังกล่าวมีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนให้ทัดเทียมกับภาคธุรกิจ

 

               “ความร่วมมือกันของภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาคสังคมในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางความคิดเพื่อสังคมสูตรใหม่ คือ ไม่ใช่ หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสองแล้ว แต่เป็นพัฒนาการที่นำไปสู่ความยั่งยืน สูตร หนึ่ง บวก หนึ่ง เท่ากับ สาม ซึ่งการนำทรัพยากร ความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเครือข่ายที่เป็นจุดแข็งของแต่ละภาคส่วน มาร่วมกันพัฒนาบุคลากรของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความเจริญก้าวหน้า และยังสามารถพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพให้กับผู้มาร่วมงาน ซึ่งจะเป็นข้อจูงใจให้คนรุ่นใหม่ สนใจสมัครเข้ามาร่วมงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมมากขึ้น”

 

              ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม และประธานโครงการศรีปทุม ยูเอสอาร์ (spipatum university social responsibility) กล่าวว่า เพื่อให้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมเกิดประโยชน์สูงสุด กับบุคลากรขององค์กรพัฒนาเอกชน ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้ผสานความร่วมมือจากทั้งคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยในคณะต่าง ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคธุรกิจ มาเป็นวิทยากรความรู้ โดยเนื้อหาจะมีการปรับให้เข้ากับองค์กรพัฒนาเอกชน มีระยะเวลาเรียนทั้งหมด 66 ชม. ใช้เวลาเรียนทุกวันเสาร์ รวม 3 เดือน คือตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงธันวาคม พ.ศ.2551 มุ่งเน้นการจัดการสมัยใหม่ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ด้านไอที โดยด้านการจัดการนั้น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนจะได้รับการพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับหลักการบริหารจัดการองค์กร การจัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การเขียนโครงการของบประมาณสนับสนุน วิธีบริหารและดำเนินโครงการ การตลาด กฎหมาย การประชาสัมพันธ์ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนด้านไอทีนั้น จะได้รับการเสริมความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก internet การสร้างเว็บไซต์ และเทคนิคการใช้โปรแกรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้งานที่ทำอยู่เกิดประสิทธิภาพมีความคล่องตัว

  

แบ่งปันฯ ผนึก ม.ศรีปทุม-ไมโครซอฟท์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ

 

              ด้านนางสุภารัตน์ จูระมงคล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อชุมชน บริษัท ไมโครงซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด microsoft unlimited potential ที่มุ่งเน้นการขยายโอกาสในการเข้าถึงเทคโนลียนั้น บริษัทเห็นความสำคัญในการที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางสังคม ได้มีทักษะและความเชี่ยวชาญด้านไอที อันจะช่วยทำให้ ภารกิจในการช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ ของแต่ละองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า หากผู้เข้าร่วมโครงการ ได้รับการเติมเต็มความรู้ด้านการการพัฒนาเว็บไซต์ การใช้อินเทอร์เน็ต การใช้โปรแกรมออฟฟิศช่วยงานต่าง ๆ ที่ทางบริษัทจะได้จัดโปรแกรมและวิทยากรมาถ่ายทอดให้ ก็จะทำให้ สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดทางเทคโนโลยี และมีการนำงานที่คล่องตัว ร่นระยะเวลาในการทำงานเอกสาร และทำให้การติดต่อสื่อสารกับองค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

 

              คุณสินี จักรธรานนท์ ผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อสังคม (ประเทศไทย) กล่าวว่า การทำงานของผู้ประกอบการทางสังคมนั้น จริง ๆ แล้วก็เหมือนกับผู้ประกอบการทางธุรกิจ ต่างกันที่องค์กรหนึ่งหวังผลกำไร อีกองค์กรหนึ่งไม่หวังผลกำไร ซึ่งปัจจัยสู่ความสำเร็จของทั้งสองส่วนนั้นเหมือนกัน คือจะต้องมีทั้งวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น การบริหารจัดการ กระบวนการวิธีการทำงานที่สร้างสรรค์ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการทางสังคม นั้นยังขาดทักษะด้านการบริหารจัดการ ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนภารกิจทางสังคมได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จึงนับว่าโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคมที่ได้ริเริ่มขึ้นมานี้ มีประโยชน์ มีความสำคัญ และมีความจำเป็นมาก

  

แบ่งปันฯ ผนึก ม.ศรีปทุม-ไมโครซอฟท์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ

 

               “นับเป็นเรื่องที่ดีที่ภาคธุรกิจ หันมาสนใจปัญหาสังคม และยื่นมือเข้ามาช่วย โดยจับมือกับภาควิชาการ ที่มีองค์ความรู้ เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมพลังของภาคประชาชน ให้มีความเข้มแข็ง สามารถทำงาน ตอบสนองเป้าหมายของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเอาจุดแข็งหลาย ๆ ฝ่ายมารวมกัน ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้บุคลากรที่ทำงานภาคสังคม มีทักษะมากขึ้น แต่ยังเป็นโอกาสในการผสาน เชื่อมโยงความร่วมมือและจับมือกันไปแก้ปัญหาสังคม อีกทั้ง ยังจะเป็นการปูทางบ่มเพาะ จูงใจให้คนรุ่นใหม่ซึ่งมีใจอยู่แล้ว มาร่วมงาน เชื่อว่าหากมีการดำเนินโครงการต่อเนื่อง จะทำให้การทำงานในทุกด้านพัฒนาและสำเร็จลุล่วงไปได้เร็ว ง่ายขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง”

 

              โครงการ “แบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 โดยมีเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (social venture network : svn) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหน้าที่เชื่อมโยง องค์กรภาคสังคม ที่ทำงานโดยไม่หวังผลกำไรกับองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อทำงานพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม ที่ทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้มาร่วมกันดำเนินโครงการนี้ นับเป็นหนึ่งใน 48 คู่ความดี ที่ทางโครงการฯ ได้ดำเนินประสานงานสร้างความเข้าใจ และเชื่อมโยงให้มาทำงานร่วมกัน

 

 

 

 

 

แบ่งปันฯ ผนึก ม.ศรีปทุม-ไมโครซอฟท์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ  ดาวน์โหลด คำกล่าวคุณสุภารัตน์ จูระมงคล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

แบ่งปันฯ ผนึก ม.ศรีปทุม-ไมโครซอฟท์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ  ดาวน์โหลด คำกล่าวดร.จรรยา พุคยาภรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม และประธานโครงการศรีปทุม ยูเอสอาร์ (spipatum university social responsibility)

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก : โครงการแบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน

 

 

 

update 01-10-51

 

 

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code