‘แบ่งกัน เกื้อกูล’ ต้นน้ำแห่งความสุข
“หัวไผ่ของเรา เดินด้วยแผนแม่บทชุมชนมาตั้งแต่ปี 2545 เราเก็บข้อมูล วิเคราะห์ นำข้อมูลย้อนกลับไปให้ชุมชน หลังจากนั้นจึงเกิดการมีส่วนร่วม” นายทวีป จูมั่น หัวหน้าโครงการตำบลสุขภาวะหัวไผ่ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี กล่าว
ตำบลหัวไผ่ เดิมขึ้นอยู่กับตำบลสนามแจง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ต่อมามีการจัดตั้งตำบลใหม่โดยรวมบางส่วนของ ตำบลสนามแจง บางส่วนของตำบลโพกรวม อำเภอเมืองสิงห์บุรี และตำบลงิ้วราย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นตำบลใหม่ ให้ชื่อว่า “ตำบลหัวไผ่” พื้นที่ของตำบลหัวไผ่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะต่อการทำนา ประชากรส่วนใหญ่ของตำบลหัวไผ่ ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก
“หัวไผ่” เขาสร้างคนมาตั้งแต่ปี 2545 ก่อนที่ผมมาเป็นนายกฯ เสียอีก เรียกว่า ทำมาแต่ดั้งเดิมแล้ว โดยหัวไผ่เป็นชุมชนปฐมภูมิ ยังมีความเป็นพี่เป็นน้อง ยังมีความเป็นสังคมที่พึ่งพากันพอสมควร การมีพื้นที่เกินครึ่งเป็นที่เกษตรกรรม การประกอบอาชีพจึงไม่หลากหลายนัก ทำให้คุยกันง่ายขึ้น พึ่งพากัน อาชีพเดียวกันก็เชื่อมร้อยเข้าด้วยกันได้ง่าย
แต่ปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไป เราต้องสร้างกลุ่มอาชีพให้เกิดขึ้น โดยให้ภาคประชาชนเป็นผู้วางระบบด้วยตัวเอง อย่างเรื่องสายน้ำแห่งความสุขที่เราทำให้เป็นตัวอย่าง ในการใช้ทรัพยากรสาธารณะร่วมกัน โดยร่วมกับคน 4กลุ่ม 1.กลุ่มชาวนาผู้ใช้น้ำในคลองชลประทาน 2. กลุ่มผู้ทำผักบุ้ง 3.กลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ และ 4. กลุ่มของคนหาปลา คน 4 กลุ่มต้องไปใช้กติการ่วมกัน โดยกติกาที่ว่านี้เกิดจากชุมชน แม้ว่าจะเป็นคลองชลประทานก็จริง แต่สิทธิในการใช้เป็นของคนในพื้นที่ เมื่อแบ่งกัน เกื้อกูลกัน ก็ทำให้ชุมชนมีความน่าอยู่ จึงเข้าข่ายในเรื่องของตำบลสุขภาวะ ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.
คำว่าสุขภาวะในมุมมองของผม คือ ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุข โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องของสุขภาพเท่านั้น แต่ทำอะไรก็ได้ที่มีความสุขบนพื้นฐานที่สังคมต้องอยู่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ ถ้าเราไม่ทำเรื่องตำบลสุขภาวะ หรือยกระดับของการจัดการตนเองให้คนในชุมชน คำว่าสุขภาวะก็ไม่มีความหมาย เราจึงต้องยกระดับความยั่งยืนในการจัดการตนเองของคนในสังคมให้ได้ โดยไม่ต้องแบมือขอใคร นั้นจึงเรียกว่ายั่งยืน
ก่อนที่ สสส. จะเข้ามา หัวไผ่เราเดินด้วยแผนแม่บทชุมชนมาตั้งแต่ปี 2545 เราเก็บข้อมูล วิเคราะห์ นำข้อมูลย้อนกลับไปให้ชุมชน หลังจากนั้นจึงเกิดการมีส่วนร่วม โครงการที่ยั่งยืนของเรา อาทิ โครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง เราสามารถทำให้พี่น้องประชาชนมาพูดคุยแก้ปัญหากันได้
อีกโครงการคือ กลุ่มอาชีพ ซึ่งล้วนยืนอยู่ด้วยตนเองได้ มีอีกโครงการหนึ่งที่ทำให้หัวไผ่เป็นที่รู้จัก คือเทศกาลกินอยู่อย่างไทย เทศกาลนี้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ เราจับเอาเรื่องของเพลงพื้นบ้านมาร่วมกับอาหารการกิน เราเอาชีวิตแม่เพลงผู้โด่งดัง ซึ่งท่านเป็นคนของหัวไผ่ มารวมกับเรื่องอาหารปลอดสารพิษ ฃเมนูต่างๆ ก็เป็นเมนูพื้นบ้านอย่างแท้จริง
อีกส่วน คือขนมไทยพื้นบ้าน เราให้ชาวบ้านมาร่วมกิจกรรม ตลอดจนดึงเยาวชนมาร่วมแสดงงานศิลปวัฒนธรรมผสมผสาน นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนหัวไผ่ เป็นโครงการที่เราประสบความสำเร็จมาก นอกจากนี้ ศูนย์เด็กเล็กของเรา ก็เป็นอีกโครงการที่ประสบผลสำเร็จ เรากำลังขยายผลอย่างต่อเนื่องเพื่อถ่ายทอดความรู้ของเราสู่เครือข่าย
อาจกล่าวได้ว่า หัวไผ่เดินได้ด้วยภูมิปัญญาวัฒนธรรม โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากแผนแม่บท ผู้นำมีความเป็นกันเองกับชาวบ้าน เราเปิดให้ผู้คนร้องทุกข์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การมีส่วนร่วมชัดเจนขึ้น อะไรที่ส่งเสริมสนับสนุน เราทำทั้งนั้น นอกจากนี้ คนเป็นนายกฯ ยังต้องรู้จักการจัดการงบประมาณ คนเป็นผู้นำต้องทำข้อบัญญัติงบประมาณเอง อย่าให้ฝ่ายปลัดซึ่งเป็นข้าราชการประจำจัดทำ หรือปล่อยให้สำนักปลัดจัดทำ เพราะเวลาเราลงพื้นที่ เราจะได้ชี้แจงกับชุมชน ทั้งเรื่องของงบฯ การตลาด เราต้องตอบชาวบ้านให้ได้
เมื่อ สสส. เข้ามา เรามีความร่วมมือกันในเรื่องงานวิชาการ สร้างคนในตำบลให้เกิดเป็นนักวิชาการ ขณะนี้เป้าหมายของหัวไผ่ซึ่งเป็นแม่ข่าย เราปรับในเรื่องของเครือข่ายขยายผล บอกเลยว่า ใครจะเป็นลูกข่ายเครือข่ายขยายผลต้องนำ ‘สามนัก’ เข้ามาอบรม คือ นักพัฒนา นักวิเคราะห์ และนักวิชาการศึกษา มาอบรมเรื่องพื้นฐานการจัดเก็บข้อมูล นี่คือส่วนหนึ่งที่เราได้จาก สสส. ในเรื่องงานวิชาการ ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญ
นอกจากนี้ สสส. ยังสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ ทำให้เกิดงาน เกิดการจัดการ เราได้เรียนรู้ข้ามเครือข่าย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การขึ้นเป็นแม่ข่ายแต่ละข่ายก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งไม่มีการสอนที่ไหน ประสบการณ์ตรงนี้ เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตรงนี้ผมมองว่าสำคัญมาก ทำให้เกิดแนวความคิดที่หลากหลาย และที่สำคัญมันสามารถต่อยอดออกไปได้ไม่รู้จบ
ปัญหาที่เราพบเจอโดยมากเป็นเรื่องของการรวมคน เพราะว่าการทำงานใหญ่ การรวมคนในตำบลเข้ามาทำงานนั้นยากมาก ตัวนายกฯ มีลูกน้องแค่คนทำงานในออฟฟิศเท่านั้น ในส่วนของฝ่ายสภาฯ ตัวนายกฯ เองก็ไม่ใช่เจ้านายของฝ่ายสภาฯ ไม่ใช่เจ้านายของฝ่ายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ใช่เจ้านายของประชาชน
อีกส่วนหนึ่งที่หนักมาก คือการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของประชาชน ทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนรู้เรื่องของ อบต. ทั้งหมด ทำอย่างไรให้รู้ว่า เขาทั้งหมด คือเจ้าของท้องถิ่น เขาทั้งหมดต้องดูแลผลประโยชน์ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่จะตกกับตัวของเขาเอง
เวลาเราลงไปพบประชาชน ต้องมีข้อมูลจากภาคประชาชน คือทำให้เขาเล่าเรื่องของตนเอง เราเป็นผู้นำก็ต้องฟังทุกเรื่องอย่างตั้งใจ เพื่อนำเอามาจัดการแก้ไข พัฒนา หากมีการทะเลาะกันก็ต้องมีกติการในการตัดสิน มีแนวทางให้เขาเดิน
งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเราต้องบริหารให้ได้ อย่างหัวไผ่มีสามส่วน หนึ่ง ภาษีที่ดิน เราเป็นผู้จัดเก็บ ภาษีที่รัฐจัดเก็บ เงินอุดหนุนมาจากท้องถิ่น มาจากภาษี เงินอุดหนุนทั้งสองอย่างนี่จัดการต่างกัน ถ้ามาจากท้องถิ่น บางอย่างระบุอยู่แล้วว่า ต้องทำอะไร แต่เงินที่มาจากภาษี ต้องขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการอย่างไร บริหารงบฯ ไปตามความต้องการ เพื่อให้ผลประโยชน์ตกเป้นของประชาชน และสำคัญที่สุด คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพราะหัวไผ่เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาภัยพิบัติอย่างหนักหน่วง เราต้องใช้เวลาฟื้นฟูร่วมปี
ในเวลานี้ ผมไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนายกฯ แล้ว ซึ่งก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า สิ่งต่างๆ ก็ยังอยู่ได้ สิ่งที่เราทำมาสิบปีเริ่มเห็นผลหลังจากเราหมดวาระ ตอนนี้โครงการต่างๆ ก็ยังเดินหน้าต่อ อย่างเช่น โฮมสเตย์ ก็พัฒนาจนเข้าสู่มาตรฐานของ ททท. แล้ว อีกโครงการ คือเรื่องผักบุ้งในคลองชลประทาน กิจการก็เติบโต เรื่องจักรสาน ชมรมดนตรี ต่างๆ เหล่านี้ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะในการทำงาน ผู้นำไม่ได้เป็นคนลงมือ เป็นเพียงพี่เลี้ยง เป็นผู้ให้แนวคิดเฉยๆ ชาวบ้านเขาเป็นผู้ลงมือทำงานด้วยตนเอง ไม่ได้จัดตั้งโดยผู้นำ และกติกาต่างๆ ก็เกิดจากพี่น้องประชาชน นี่ก็เป็นความยั่งยืนหนึ่ง
ที่มา : สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3)
ภาพประกอบ : อินเทอร์เน็ต