แนะ กำจัดขยะมูลฝอยป้องกันโรคฉี่หนู
ที่มา: กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนกำจัดขยะมูลฝอยในบริเวณบ้านทันที หลังน้ำลดเพื่อกำจัดแหล่งพักอาศัยของหนู ป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยแล้ว 1,072 ราย เสียชีวิต 35 ราย ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากกว่าปีที่ผ่านมา หากเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะปวดน่องหรือโคนขา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องรวดเร็ว พร้อมแนะกำจัดขยะมูลฝอยทุกประเภท ลดแหล่งรังโรค ปลอดภัยจากโรคไข้ฉี่หนู
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย บางพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว และยังมีน้ำท่วมขังเป็นบางแห่ง พื้นที่น้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะจึงเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้ฉี่หนูที่มักพบมากในช่วงน้ำลดเช่นนี้ ไม่เพียงพื้นที่ชื้นแฉะเท่านั้น ขยะมูลฝอยที่อยู่ในพื้นที่บ้านเรือน มักเป็นแหล่งพักอาศัยของหนู ซึ่งเป็นสัตว์นำโรคที่สำคัญของโรคดังกล่าว ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 22 สิงหาคม 2560 มีรายงานผู้ป่วย 1,702 ราย เสียชีวิต 35 ราย พบมากในกลุ่มอายุ 45-54 ปี และอาชีพเกษตรกรมากที่สุด จากข้อมูลยังพบอีกว่า ปีนี้พบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา(ป่วย 1,056 ราย เสียชีวิต 22 ราย) ส่วนในปี 2559 ตลอดทั้งปีพบผู้ป่วย 2,285 ราย เสียชีวิต 35 ราย
เชื้อโรคของโรคไข้ฉี่หนู อาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพบมากในหนู โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสเชื้อเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังหรือพื้นดินที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะ เช่น ตลาด คันนา สวน อาการของโรคไข้ฉี่หนู จะเริ่มจากมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาจะปวดมาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว
นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีปฏิบัติกำจัดมูลฝอยเพื่อป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ดังนี้ 1.แยกขยะเปียก และขยะแห้งออกจากกัน ใส่ถุงดำ สำหรับถุงเศษอาหารควรบรรจุในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดแข็งแรงอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันสัตว์มากัดแทะหรือสัตว์มีพิษมาอาศัย รวมทั้งดูแลที่อยู่อาศัยให้สะอาด 2.แยกขยะประเภทอันตราย เช่น เครื่องไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า ขวดบรรจุสารเคมีที่เป็นอันตรายออกจากขยะทั่วไป โดยใส่ถุงปิดให้มิดชิดและเขียนป้ายกำกับว่าเป็นขยะอันตราย และเก็บให้พ้นน้ำ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดให้ถูกวิธี 3.ควรแต่งกายให้มิดชิด เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมใส่สวมถุงมือยาง หรือถุงพลาสติก สวมรองเท้าบูทและหน้ากากอนามัยเวลาเก็บมูลฝอย 4.ขณะที่ทำการเก็บขยะภายในบ้าน ควรเปิดประตู หน้าต่างเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ
ทั้งนี้ ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นควรสวมใส่รองเท้าบูท เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง หากมีบาดแผลที่เท้าหรือที่บริเวณขา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ขอให้ใช้วัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขาและเท้าเพื่อป้องกันน้ำเปียกแผล และหมั่นล้างมือ อาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422