แนะใช้หลัก ‘อึด ฮึด สู้’ ฝ่าวิกฤติอุทกภัย

ที่มา : สยามรัฐ

แฟ้มภาพ

                    กรมสุขภาพจิต เฝ้าระวังผลกระทบทางใจในผู้ประสบอุทกภัย เชิญชวนให้สังคมร่วมดูแลจิตใจกัน ด้วยหลัก อึด ฮึด สู้พร้อมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุดเป็นลำดับแรก พร้อมประสานงานทีม MCATT ในพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบ และช่วยเหลือฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยและผู้ให้การช่วยเหลือในพื้นที่ หลังพบประชาชนเกิดความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้านำไปสู่การฆ่าตัวตาย

                    นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุอุบลราชธานี นอกจากจะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสูญเสียทรัพย์สินและการเจ็บป่วยทางร่างกาย สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ประสบเหตุอีกด้วย ซึ่งโรคทางจิตเวชที่สำคัญจากการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้ทันตั้งตัว คือ โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตรายหรือที่เรียกว่า โรค PTSD โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วย และทำให้มีผลต่อการใช้ชีวิตรวมถึงด้านอารมณ์ไปสู่โรคภาวะทางจิตและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายได้

                    กรมสุขภาพจิตห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยจากปัญหาดังกล่าว ขอให้สมาชิกในสังคมช่วยกันดูแล และแสดงถึงพลังยืดหยุ่นในจิตใจ “อึด ฮึด สู้” โดยสร้างมุมมองและลดความวิตกกังวลจนนำไปสู่ความเครียด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต หลักการ อึด ฮึด สู้ สามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยมองด้านบวกที่สร้างสรรค์ มองเห็นทรัพยากร และสัมพันธภาพดีงามรอบๆตัวที่จะสร้าง และทำให้โอกาสในชีวิตปรากฏขึ้น

1. อึด คือ สภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง สงบมั่นคง ทนต่อแรงกดดัน ควบคุม ตัวเองได้และมั่นใจว่า ตนเองต้องเอาชนะปัญหาอุปสรรค และผ่านพ้นวิกฤติได้

2. ฮึด คือการมีกำลังใจหรือมีแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ซึ่งกำลังใจนี้มีที่มาสำคัญ คือ การสนับสนุนจากคนรอบข้าง

3. สู้ คือต่อสู้ เอาชนะอุปสรรคปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤติ สามารถแก้ไขปัญหา และมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์และความเครียด โดยกรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการประสานงานไปยังทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ในพื้นที่เพื่อประเมินผลกระทบ รวมทั้งดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน

                    นพ.ประภาส อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ขอให้สมาชิกในสังคมช่วยกันดูแลโดยใช้หลัก 3 Share หรือ 3 แนวทางการแบ่งปัน โดย Share แรกคือการแบ่งปันกำลังใจ ในสถานการณ์ที่ท้อแท้เศร้าหมอง หากมีคำพูดปลอบโยนแม้เพียงเล็กน้อยก็จะช่วยในการสร้างบรรยากาศให้ดีขึ้นได้ Share ที่สองคือการแบ่งปันสิ่งดำรงชีพ โดยไม่กักตุนไว้จนเกินความจำเป็นหรือปริมาณการใช้สอย จนทำให้สังคมในภาพรวมเดือดร้อนเพราะขาดแคลน และ Share สุดท้าย การแบ่งปันน้ำใจ โดยการให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนอย่างหนัก

                    ด้าน ดร.สุภาภรณ์ ศรีธัญรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 10  กล่าวว่าจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือให้กำลังใจ และมอบสิ่งของจากหลายภาคส่วน ซึ่งจากการออกปฏิบัติงานดูแลช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผ่านการประเมินภาวะสุขภาพจิต เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม จากการสำรวจจำนวน 5,009 คน พบว่ามีระดับเครียดสูง ร้อยละ 3.03 เสี่ยงซึมเศร้า ร้อยละ 3.87 และเสี่ยงฆ่าตัวตาย ร้อยละ 0.25 ซึ่งทุกรายที่พบความเสี่ยงสุขภาพจิตได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านจิตใจ และส่งต่อดูแลจากทีมสุขภาพจิต

                    ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนช่วยกันดูแลจิตใจคนใกล้ตัว และในครอบครัว หากมีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกอย่างรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัย และขอคำปรึกษาพูดคุยกับผู้ที่สามารถรับฟังปัญหาของเราได้ หากพบปัญหาต้องการเข้ารับการรักษาสามารถติดต่อได้ที่ Line Application Smile Connect หรือสายด่วนสุขภาพจิต1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

Shares:
QR Code :
QR Code