แนะเคล็ดลับเตรียมความพร้อม รับมือวัยสูงอายุ

แนะเคล็ดลับเตรียมความพร้อม รับมือวัยสูงอายุ thaihealth


แฟ้มภาพ


องค์การสหประชาชาติได้นิยามว่า ประเทศใดที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไปเกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14 ในปี พ.ศ.2557 และคาดว่าในปี พ.ศ. 2583 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์”


อ.ชินริณี วีระวุฒิวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ได้ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพและการเตรียมพร้อม สำหรับผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ว่า ปกติแล้วในวัยอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จะมีความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ทั้งอารมณ์และระบบสุขภาพ หรือที่เรียกว่า วัยหมดประจำเดือน ที่เกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเกิดจากร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดได้ง่าย สำหรับผู้หญิงจะมีสัญญาณเตือนของประจำเดือนที่ค่อยๆ หมดไป แต่ผู้ชายจะไม่มีสัญญาณเตือน ซึ่งปัญหาที่พบคือ เกิดอารมณ์ซึมเศร้า หรือปัญหาสุขภาวะทางเพศที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเฉียบพลัน ก่อให้เกิดเป็นความวิตกกังวลในวัยผู้สูงอายุค่อนข้างมาก


อ.ชินริณี บอกต่อว่า นอกจากนั้นยังทำให้ระบบย่อยอาหารอ่อนแรงลง ทำให้มีลมในท้องง่ายขึ้น และนอนหลับยากขึ้น ฉะนั้นหากจะดูแลสุขภาพของวัยผู้สูงอายุ ต้องให้ความสำคัญเรื่องอาหารเป็นอันดับแรก โดยไม่ควรกินอาหารรสจัด หรืออาหารที่มีความมันมากจนเกินไป และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ง่ายขึ้น


ส่วนปัญหาการนอนไม่หลับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แนะนำว่า ควรผสมน้ำผึ้งครึ่งช้อนชากับน้ำอุ่นดื่มก่อนนอน จะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น รวมถึงการนอนพักกลางวันประมาณ 30 นาที ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คลายความอ่อนเพลียลงได้ สำหรับผู้สูงวัยที่ยังทำงานอยู่ ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน และปั่นจักยาน  เพราะนอกจากจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยคลายความกังวลได้อีกด้วย


อ.ชินริณี ยังแนะนำถึงคนรอบข้างที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ อีกด้วยว่า ควรมีสติอยู่เสมอ เพราะบางครอบครัวอาจจะมีความเครียดที่เกิดจากภาวะพ่อ-แม่ เป็นอัลไซเมอร์ หรือโรคประจำตัวที่เป็นโรคร้าย ซึ่งหน้าที่สำคัญในฐานะลูก คือเยียวยาด้วยความรัก ความเอาใจใส่ และเข้าใจในพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงวัย ที่อาจจะมีอิริยาบถที่เชื่องช้า ตั้งคำถามเดิมซ้ำๆ หรืออาจชินกับการใช้วิถีชีวิตในรูปแบบเดิม ซึ่งเราไม่สามารถเปลี่ยนท่านได้ ก็ต้องย้อนกลับมาเปลี่ยนที่ตัวเราเอง ยอมรับฟังความคิดเห็นของท่าน และไม่ควรใช้ถ้อยคำที่บั่นทอนสภาพจิตใจ ไม่ให้ท่านรู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือไม่มีความสำคัญในครอบครัว และสังคม หากทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะทำให้เกิดความสมดุลในการอยู่ร่วมกันและมีความสุขในการใช้ชีวิตอย่างลงตัว


“อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุเองก็ควรดูแลตนเองให้ดี ทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหาเวลานั่งสมาธิบ้าง เพราะการนั่งสมาธิ จะช่วยลดความเครียด คลายความกังวลลงได้ เมื่อรู้จักเตรียมพร้อมและรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวเข้าสู่ผู้สูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แนะนำ


 


 


เรื่องโดย แพรวพรรณ สุริวงศ์ team content www.thaihealth.or.th


 

Shares:
QR Code :
QR Code