แนะเก็บน้ำฝนให้ปลอดภัย ลดการปนเปื้อน
ที่มา : เว็บไซต์มติชน
แฟ้มภาพ
ในช่วงฤดูฝนหากต้องการรองน้ำฝนไว้ใช้ ควรทำความสะอาดรางน้ำฝน และภาชนะเก็บน้ำให้สะอาด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงใกล้โรงงานอุตสาหกรรม และก่อนนำมาใช้ดื่มควรต้มให้เดือด เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินอาหาร และอุจจาระร่วงได้
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน การเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค ในช่วงแรกๆ ที่ฝนตก อาจเกิดความสกปรก และความเสี่ยงจากสารเคมีได้ง่าย โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรม การจราจรหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ควันหรือก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมทั้งความสะอาดหลังคาที่รองรับน้ำฝน และภาชนะเก็บกักน้ำฝน จากข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือน พ.ศ.2564 โดยกรมอนามัยพบว่า น้ำฝนที่ครัวเรือนเก็บไว้บริโภคผ่านเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภค ร้อยละ 29.4 ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน พบการปนเปื้อนแบคทีเรียมากที่สุด และพบสี ความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง เกินเกณฑ์มาตรฐานเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการดูแลความสะอาดของพื้นหลังคา รางรองรับน้ำฝน ภาชนะบรรจุน้ำฝนไม่ถูกหลักการสุขาภิบาลน้ำบริโภค
ทั้งนี้ การเก็บน้ำฝนไว้บริโภค หรืออุปโภคให้ปลอดภัยนั้น ควรเริ่มจากการสำรวจความพร้อมของรางรองรับน้ำฝน ต้องไม่ชำรุด ไม่มีเศษใบไม้ กิ่งไม้ ถ้าสามารถทำความสะอาดเก็บกวาดสิ่งสกปรกบนหลังคาได้ด้วยก็จะดีมาก สำหรับภาชนะบรรจุน้ำฝนควรสำรวจดูความชำรุดแตกรั่ว และต้องล้างให้สะอาดทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะภายในต้องทำการฆ่าเชื้อโรคด้วยการแช่ หรือฉีดพ่นน้ำคลอรีนในขั้นตอนสุดท้ายของการล้างด้วย ในการรองน้ำฝนนั้น ควรปล่อยให้ฝนตกชะล้างสิ่งสกปรกในอากาศ บนหลังคา และรางรับน้ำฝนทิ้งไปสักระยะหนึ่งก่อน แล้วค่อยรองน้ำฝนใส่ภาชนะที่เตรียมไว้
เมื่อเต็มแล้วปิดฝาภาชนะให้มิดชิดโดยใช้ตาข่ายพลาสติกปิดปากภาชนะให้แน่นก่อนปิดฝา เพื่อป้องกันสัตว์หรือแมลง เช่น จิ้งจก แมลงสาบ ฯลฯ เข้าไปอาศัย ดูแลที่ตั้งภาชนะเก็บน้ำฝนให้สะอาด ไม่เฉอะแฉะ ดูแลความสะอาดของภาชนะเก็บน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรนำสิ่งของต่างๆ ไปวางหรือกองไว้บนภาชนะเก็บน้ำฝน เพราะจะเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ แมลงนำโรค นอกจากนั้น เพื่อให้มั่นใจก่อนนำน้ำฝนมาดื่มควรนำไปต้มให้เดือดประมาณ 1 นาที เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ