แนะ“อยู่ไฟ”ห้ามทำที่ปิด เสี่ยงขาดอากาศ

/data/content/25101/cms/e_dfjoruw14679.jpg


          “กรมอนามัย”ระบุไม่จำเป็นต้องอยู่ไฟหลังคลอด เพราะก่อนคลอดได้รับยา “ออกซิโทซิน” ช่วยมดลูกหดตัวอยู่แล้ว แต่หากต้องการอยู่ไฟตามแพทย์แผนไทย อย่าอยู่ในที่ปิดมิดชิดเกินไป ควรมีการระบายอากาศ ช่วยลดการสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์


          นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีหญิงชาวพม่าในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่ไฟ แต่สำลักควันไฟเสียชีวิตว่า ปัจจุบันหลังคลอดไม่จำเป็นต้องอยู่ไฟ เพื่อขับน้ำคาวปลา หรือให้มดลูกหดตัว ซึ่งเป็นความเชื่อและการรักษาแบบแผนโบราณก็ได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์มักคลอดในสถานพยาบาล จะได้รับการฉีดยา “ออกซิโทซิน” หรือยาเร่งคลอดอยู่แล้ว มีผลให้มดลูกบีบและหดตัวแล้วหลังคลอด หรือหากมีการเสียเลือดมากขณะคลอด ก็จะมีการฉีดยานี้ร่วมกับการให้เลือดด้วย


          นพ.ณัฐพร กล่าวต่อว่า ส่วนการขับน้ำคาวปลานั้น ตามปกติร่างกายของผู้หญิงก็มักจะมีการขับน้ำเมือกเหล่านี้ตั้งแต่คลอด และควบคู่กับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น จำพวกสมุนไพร หัวปลี ขิง ขมิ้น ช่วยขับลม แต่การเสียชีวิตจากกรณีของหญิงชาวพม่ารายนี้ เชื่อว่าเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการปิดห้องให้มิดชิดจนเกินไป ไม่มีการระบายของออกซิเจน ประกอบกับควันจำนวนมากที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้สำลัก และเสียชีวิตในที่สุด การอยู่ไฟในปัจจุบันก็ไม่ควรนานเกิน 2-3 สัปดาห์ และควรอยู่แบบกระโจมจะดีที่สุด เพราะเป็นการคลุมอบสมุนไพรเฉพาะร่างกายเหลือศีรษะไว้ ทำให้ไม่ได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการสูดดม


 


 


          ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวไทย


           ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code