แนะหลีกเลี่ยงคำไม่ควรพูด กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า

แฟ้มภาพ

               ห่วงแนวโน้มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ นักจิตวิทยาแนะหลีกเลี่ยงคำพูดบางประโยคที่ไม่สมควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

               ที่ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาระบบการป้องกันการฆ่าตัวตายที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา โดย น.ส.วันดี ทับทิมทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ งานสุขภาพจิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จังหวัดฉะเชิงเทรามีปัญหาการฆ่าตัวตายอยู่ในอันดับที่ประมาณ 35 ของประเทศ ปัญหาการฆ่าตัวตายเริ่มมีแนวโน้มลดลงช่วงปี 2562 และเริ่มมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ปี 2564 จังหวัดฉะเชิงเทรา มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 48 ราย

               ล่าสุดปี 2565 นับตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 ถึงสิ้นเดือน ส.ค.2565 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 32 คน เป็นวัยทำงานคิดเป็นร้อยละ 80 รองลงมาคือผู้สูงอายุ ที่มีโรคประจำตัว ทั้งร่างกาย และจิตใจ มีปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย อันดับหนึ่งคือ ผูกคอ และ กระโดดจากที่สูง แต่ยังไม่พบในกลุ่มวัยรุ่น

               ขณะที่ น.ส.อภิญญา ตันเจริญ นักจิตวิทยา คลินิกปฏิบัติการ รพ.บางปะกง กล่าวถึงสัญญาณบอกเหตุของผู้ที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย หรือเป็นโรคซึมเศร้าว่า ให้สังเกตุความผิดปกติเช่น ชอบเก็บตัว เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ สิ่งที่คนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวควรทำคือ รับฟังปัญหา โอบกอด สัมผัส หากพบว่ายังไม่ดีขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์ และสิ่งที่สำคัญ คำพูดบางประโยค ที่ไม่สมควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือ “สู้ ๆ ไม่เป็นไรปัญหาแค่นี้” หรือ “สู้ซิ เรื่องแค่นี้อย่าเครียด” คำพูดที่กล่าวมาเป็นคำพูดที่นอกจากไม่ช่วยอะไรให้แก่ผู้ป่วยซึ่งจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกท้อแท้ และอยากหนีชีวิตอันจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้เร็วยิ่งขึ้น

               การประชุมครั้งนี้จึงเป็นการประชุม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา หน่วยงานกู้ชีพ กู้ภัยเพื่อจะได้วางแนวทางในการแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเปราะบางร่วมกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ความสัมพันธ์และการสื่อสารในครอบครัว เป็นปฐมบทในการที่จะช่วยกันเฝ้าระวัง ยับยั้ง ด้วยการเฝ้าสังเกต และรับฟัง อย่างมีสติ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าชีวิตมีค่าเกินกว่าที่จะถูกทำร้าย หรือทำลายด้วยการฆ่าตัวตาย

Shares:
QR Code :
QR Code