แนะหลัก 4 อย่า ป้องกันการจมน้ำช่วงลอยกระทง

ที่มา : กรมควบคุมโรค

เเฟ้มภาพ

                    วันลอยกระทง นับเป็นประเพณีไทยที่ให้ความสำคัญกับการขอขมาพระแม่คงคา และอธิษฐานขอพร นอกจากนี้ยังเป็นวันสนุกสนานรื่นเริง  ตามสถานที่ต่างๆ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี เตือนประชาชนในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ให้ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ ผู้ปกครอง ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงหรือปล่อยเด็กเล็กอยู่ตามลำพัง เพราะอาจเสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้

                    วันลอยกระทงปีนี้ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณี และจะมีประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมงานจากข้อมูลกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2560 – 2564 สถานการณ์ภาพประเทศ เทศกาลวันลอยกระทงวันเดียว พบคนจมน้ำเสียชีวิต เฉลี่ย 12 คน สาเหตุหลักมีความเกี่ยวข้องกับการดื่มเเอลกอฮอล์ สำหรับพื้นที่เขตสุขภาพที่ 6 ในปี 2564 พบคนจมน้ำเสียชีวิตวันลอยกระทง จำนวน 1 ราย อายุ 57 ปี เพศชาย ทั้งนี้ ยังพบว่าช่วงก่อนวันลอยกระทง พบคนจมน้ำเสียชีวิต จำนวน 2 รายและหลังเทศกาลวันลอยกระทงพบ จำนวน 5 ราย จึงขอเตือนให้ระมัดระวังอุบัติเหตุการจมน้ำเสียชีวิต ในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ 3 วัน  (ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง)

                    คำแนะนำในการป้องกันการจมน้ำ ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง และควรยึดหลัก 4 อย่า คือ 1.อย่าดื่ม : อย่าดื่มสุรา 2.อย่าใกล้ :  อย่ายืนใกล้ขอบบ่อ  3.อย่าเก็บ : อย่าลงน้ำไปเก็บเงินในกระทง 4.อย่าก้ม: อย่าก้มไปลอยกระทง

                    โดยผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่แขนเอื้อมถึง ไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังแม้จะอยู่บนฝั่งเพราะอาจพลัดตกหรือลื่นได้ รวมถึงในกะละมังหรือถังน้ำและไม่ควรให้เด็กลงเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทงเด็ดขาด เพราะเด็กอาจเสี่ยงจมน้ำและเสียชีวิตได้ ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ หากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

                    วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากอุบัติเหตุจมน้ำ

                    1. โทรศัพท์แจ้งหมายเลข 1669 หรือสถานพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด

                    2. ห้ามจับผู้ประสบภัยอุ้มพาดบ่ากระโดด หรือวิ่งรอบสนามเพื่อเอาน้ำออก เพราะน้ำที่ออกมาเป็นน้ำจากกระเพาะอาหารไม่ใช่ออกมาจากปอด ผลที่ตามมาจะทำให้ผู้ที่จมน้ำขาดอากาศหายใจนานขึ้น สมองขาดออกซิเจนได้

                    3. จับคนจมน้ำนอนราบบนพื้นราบแห้ง และแข็ง

                    4. ตรวจดูว่ารู้สึกตัวหรือไม่ โดยใช้มือทั้ง 2 ข้าง จับไหล่เขย่า พร้อมเรียกดังๆ

                    5. กรณีรู้สึกตัว : เช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้า และห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และนำส่งโรงพยาบาล

                    6. กรณีไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนอง : ช่วยหายใจ ดังนี้ เปิดทางเดินหายใจ โดยการกดหน้าผาก เชยคาง เป่าปากโดยวางปากครอบปากผู้ป่วย บีบจมูก  เป่าลมเข้าให้หน้าอกผู้ป่วยยกขึ้น (เป่าปาก 2 ครั้ง)

                    7. กดนวดหัวใจ โดยวางสันมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก (กึ่งกลางหัวนมทั้ง 2 ข้าง) ประสานมือ แขนตั้งฉาก กดหน้าอกให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ความเร็ว 100 ครั้งต่อนาที นวดหัวใจ 30 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง ทำไปจนกว่าผู้ประสบภัยจะรู้สึกตัวและหายใจได้เอง

                    8. จับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลัง เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร  จากนั้นนำส่งโรงพยาบาลทุกราย ท่านใดสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

                    สำหรับหน่วยงานที่จัดงานควรดูแลประชาชนร่วมงานอย่างใกล้ชิด ด้วยการกำหนดพื้นที่ หรือบริเวณให้ชัดเจนเว้นระยะห่าง มีแสงสว่างเพียงพอ เตรียมอุปกรณ์ไว้ใกล้แหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ จัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร และให้มีการสวมใส่ทุกครั้ง และจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่อง และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

                    วันลอยกระทงปีนี้ ขอให้เป็นวันที่ประชาชนทุกท่านสนุกสนาน รวมทั้งร่วมสืบสานประเพณีไทยดี ๆ และอย่าลืมมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ

Shares:
QR Code :
QR Code