แนะวิธีรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง
โดยติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ จัดสภาพแวดล้อมรอบบ้านเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากน้ำท่วม จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วง น้ำ ท่วม รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยและให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัย เป็นไปอย่างปลอดภัย
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนัก อย่างต่อเนื่องในระยะนี้ อาจส่งผลให้พื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ราบลุ่ม ที่ลาดเชิงเขา และริมฝั่งแม่น้ำเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ขอแนะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย ดังนี้
ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ โดยรับฟังพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัย ระดับการขึ้น – ลงของน้ำในแม่น้ำ ระดับน้ำทะเลหนุนจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด จัดสภาพแวดล้อมรอบบ้านเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเก็บกวาดกำจัดขยะมิให้อุดตันท่อน้ำ ทางระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก หากอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม อาทิ ที่ราบลุ่ม พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ให้นำกระสอบทรายจัดทำเป็นแนวคันกั้นน้ำบริเวณรอบบ้าน
พร้อมตรวจสอบให้อยู่ในสภาพมั่นคงอยู่เสมอ จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค ถ่านไฟฉาย เทียนไข นกหวีด พร้อมนำเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร เป็นต้น เก็บไว้ในถุงพลาสติกและซองกันน้ำ โดยจัดวางไว้ในบริเวณที่สามารถนำติดตัวไปได้ทันทีที่ต้องอพยพออกจากบ้านเรือน
รวมถึงจัดเตรียมวัสดุที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น ยางในรถยนต์ แกลลอนน้ำ ขวดน้ำ พลาสติก ลูกมะพร้าว เป็นต้น สำหรับใช้ยึดเกาะพยุงตัวขณะลุยน้ำท่วม หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ โดยในช่วงก่อนเกิดอุทกภัยจะมีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร เปลี่ยนสีเป็นสีขุ่นข้น หรือสีเดียวกับสีดินภูเขา ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ป่าต้นน้ำมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน สัตว์ป่าแตกตื่น มีเสียงดังอื้ออึงจากป่าต้นน้ำ มด แมลง ปลวกอพยพจำนวนมาก เป็นต้น หากสังเกตพบสัญญาณดังกล่าว ให้ติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จะได้เตรียมพร้อมรับมือและอพยพหนีภัยได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย นอกจากจะช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว ยังส่งผลให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยเป็นไปอย่างปลอดภัย
ที่มา : เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต