แนะวิธียับยั้งการทำร้ายตนเอง

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


 แนะวิธียับยั้งการทำร้ายตนเอง thaihealth


แฟ้มภาพ


          กรมสุขภาพจิตชวน ใช้ 3ส และ สื่อโซเชี่ยลสร้างสรรค์ ยับยั้งการทำร้ายตนเอง


          กรมสุขภาพจิตชวน ใช้ 3ส และ สื่อโซเชี่ยลสร้างสรรค์ ยับยั้งการทำร้ายตนเอง  นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึง พฤติกรรมเลียนแบบ (copy cat) การไลฟ์สดทำร้ายตัวเอง ว่า พฤติกรรมเลียนแบบ ในกรณีการฆ่าตัวตายไม่ได้เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ แต่มีการศึกษา พบว่า บุคคลที่เปราะบาง ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหามากอยู่แล้วจะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่จะมีโอกาสเลียนแบบได้สูง เพราะอยู่ในสภาวะจิตใจที่ขาดความมั่งคง ซึ่งสื่อหลักและสื่อสังคมจะมีส่วนช่วยได้มาก ด้วยการระมัดระวังในการนำเสนอข่าวหรือการส่งต่อ เนื่องจากเราเลือกไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ซึ่งหากผู้ที่เปราะบางอยู่แล้วรับข่าวสารนี้ ย่อมเกิดผลกระทบได้มาก การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน จึงขอเน้นว่า อย่าพาดหัวใหญ่ หรืออ้างเหตุผลเดียวง่ายๆ  ตลอดจน ต้องให้ความรู้และแหล่งให้ความช่วยเหลือ/บริการด้วย เช่นเดียวกับสื่อโซเชี่ยล ก็ไม่ควรส่งต่อเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจออกไปเรื่อยๆ ซึ่งหากผู้ที่มีความเปราะบางทางจิตใจมาพบเห็น อาจจะด่วนสรุปว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกของปัญหา เกิดผลไม่ดีตามมาเช่นเดียวกัน สิ่งที่ควรทำ คือ ขออย่าเพิกเฉยหรือนิ่งนอนใจ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะด้วยเหตุผลการประชดประชัน หรือเรียกร้องความสนใจใดๆก็ตาม ให้ใช้ความทันสมัยและความรวดเร็วของสื่อสังคมให้การช่วยเหลือผู้ก่อเหตุ พูดคุยประวิงเวลา ให้ฉุกคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา ตลอดจนรีบติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินให้เข้าไปแทรกแซงสถานการณ์


อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันแต่ต้นทาง โดยใช้ หลัก 3 ส เพื่อช่วยให้กลุ่มเสี่ยงได้เข้าสู่ระบบบริการก่อนที่จะมาเป็นปัญหาในการไลฟ์สด ได้แก่ 1.สอดส่องมองหา ผู้ใกล้ชิดที่มีสัญญาณของการฆ่าตัวตาย คือ ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่มีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย และผู้ที่แสดงถึงความต้องการฆ่าตัวตาย 2.ใส่ใจรับฟัง คนรอบข้างที่มีความเสี่ยง อย่าคิดว่าพวกเขาไม่ทำจริง เมื่อคุยแล้วจะทำให้รู้ถึงความรุนแรงของปัญหาของพวกเขา และ 3.ส่งต่อเชื่อมโยง ให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตช่วยดูแล หากการพูดคุยเจรจากับผู้มีความเสี่ยงไม่ได้ผล  สำหรับผลกระทบกับเด็กที่ตกอยู่ในเหตุการณ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กที่อยู่ในเหตุการณ์รุนแรงทุกชนิด ไม่ว่าจะด้วยการเห็นหรือเป็นผู้ถูกกระทำ ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือทั้งสิ้น ตั้งแต่การประเมินจิตใจ การประเมินสภาวะครอบครัวเพื่อหาทางดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป


ทั้งนี้ เมื่อสภาวะครอบครัวมีความรุนแรงสูง เด็กจะมีปัญหาได้ทั้งทางอารมณ์และพฤติกรรม อารมณ์ส่วนใหญ่จะแสดงออกมาในรูปแบบความวิตกกังวล หรือซึมเศร้า ส่วนพฤติกรรมมักจะเป็นแบบแยกตัว หรือก้าวร้าวรุนแรง ผู้ใกล้ชิด เช่น ญาติ/ครู จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะสังเกตและช่วยเหลือพวกเขา ด้วยหลัก 3 ส  อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แนะนำว่า ผู้ที่ทำร้ายตนเองมักจะมีสาเหตุที่ซับซ้อน โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เกิดจากปัญหาง่ายๆ และมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า อาจจะมีปัญหาทางอารมณ์ในการควบคุมตัวเอง การดื่มสุรา หรือมีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาด้านหนี้สิน เป็นต้น


ทั้งนี้ หลายเหตุการณ์ของการทำร้ายตนเองที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว เป็นปัญหาของการสื่อสาร จึงควรหาเวลาสงบๆ พูดกัน อย่าหาทางออกด้วยการทำร้ายตนเอง หรือทำร้ายผู้อื่น เมื่อมีอารมณ์ทางลบ ขุ่นมัวหรือโกรธเคืองใดๆ ขอให้บอกหรือแชร์ความรู้สึกของตนเองต่อความสัมพันธ์นั้นมากกว่าพูดถึงพฤติกรรมอีกฝ่าย ควรใช้ภาษา “ฉัน” แทน ภาษา “แก” เช่น ฉันกังวลที่เงินเราไม่พอใช้ มากกว่าทำไมเธอใช้เงินเปลือง ทั้งนี้ ถ้าพูดคุยกันแล้วยังไม่เข้าใจ ควรให้ญาติที่นับถือ หรือผู้ใหญ่ในชุมชน พระ/ผู้นำศาสนา ช่วยให้ข้อคิด ตลอดจนขอรับบริการด้านสุขภาพจิต ได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 รพ.ชุมชน รพ.จังหวัด และ รพ.จิตเวชทุกแห่งทั่วประเทศ

Shares:
QR Code :
QR Code