แนะวิธีการป้องกันอุบัติภัยในวันลอยกระทง
สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ แนะวิธีป้องกันอุบัติภัยวันลอยกระทง เตือนฉลองอย่างปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์ ระบุเล่นปะทัด ระวังอันตรายสร้างความเสียหาย จะมีโทษทั้ง จำคุก-ปรับ
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าว ว่า เทศกาลวันลอยกระทงเป็นประเพณีสำคัญของไทย เป็นวันที่คนไทยจะร่วมเฉลิมฉลองเพื่อร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของ ไทยที่มีมาช้านานซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2556 ถือเป็นวันที่ประชาชนจะเดินทางไปลอยกระทง ทำให้จำนวนรถบนถนนมีเพิ่มมากโดยเฉพาะช่วงเวลาเย็น โดยสิ่งที่เป็นกังวล คือ การฉลองส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ส่งผลให้การควบคุมตนเองและสมาธิในการขับขี่ลดน้อยลง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและมีความรุนแรงสูง นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในวันดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ
“เทศกาลลอยกระทงในปี 55 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 78 ราย และเสียชีวิตจากการจมน้ำ 21 ราย รวม 99 ราย บาดเจ็บ 678 ราย จึงขอให้ประชาชนลดละเลิกพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลอย กระทงนี้”
นายพรหมมินทร์กล่าวอีกว่า วิธีการเที่ยววันลอยกระทงให้สนุกและปลอดภัย คือ การตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน ศึกษาเส้นทางให้รอบคอบ และควรออกก่อนเวลาเพื่อเลี่ยงจราจรติดขัด เพิ่มความระมัดระวังในการขับ ไม่ขับเร็วเกินกำหนด ไม่ดื่มสุราหากต้องขับรถ และปฏิบัติตามกฎจราจร ส่วนผู้ที่นำรถจักรยานยนต์ไปเที่ยวงานต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งทั้งผู้ขับ ขี่และผู้ซ้อนท้าย
ส่วนการเล่นพลุดอกไม้ไฟต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่นจะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับวิธีการป้องกันอุบัติภัยในวันลอยกระทง ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีดังนี้ คือ 1. เลือกลอยกระทงบริเวณท่าน้ำหรือโป๊ะเรือที่มั่นคงแข็งแรง หากนั่งเรือควรสวมใส่เสื้อชูชีพ รวมถึงขึ้นลงเรืออย่างเป็นระเบียบ 2.ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และมีให้เด็กลงไปในน้ำเพื่อเก็บเงินในกระทง 3. ให้สัญญาณก่อนจุดพลุทุกครั้ง และออกให้ห่างจากบริเวณที่จุดพลุในระยะ10 เมตรขึ้นไป 4. ห้ามจุดพลุ ดอกไม้ไฟ บริเวณใกล้แนวสายไฟ สถานีบริการน้ำมัน วัตถุไวไฟ และแหล่งชุมชน 5. ห้ามนำดอกไม้ไฟที่จุดไฟไม่ติดมาจุดซ้ำ หรือใช้ปากเป่าให้ไฟติด และไม่ยื่นหน้าหรืออวัยวะต่างๆ เข้าใกล้ดอกไม้ไฟที่จุดไฟแล้ว 6. ไม่ดัดแปลงพลุ ดอกไม้ไฟ ให้มีแรงอัดหรือแรงระเบิดพลุ 7. หลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอยใกล้แหล่งชุมชน 8. ห้ามปล่อยโคมลอยบริเวณโดยรอบสนามบิน หรือช่วงที่เครื่องบินขึ้น-ลง
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์