แนะวัยเกษียณดูแลสุขภาพ

ผู้เกษียณควรเตรียมความพร้อมตนเองทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายและ จิตใจ ซึ่งต้องคำนึงถึงตั้งแต่วัยหนุ่ม-สาวและวัยทอง เพราะเมื่อถึงวัยเกษียณอายุแล้วสุขภาพจะไม่ทรุดโทรมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าผู้เกษียณควรเตรียมความพร้อมตนเองทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายและ จิตใจ ซึ่งต้องคำนึงถึงตั้งแต่วัยหนุ่ม-สาวและวัยทอง เพราะเมื่อถึงวัยเกษียณอายุแล้วสุขภาพจะไม่ทรุดโทรมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ลดการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่างๆ ที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตามหลัก 3 อ. ได้แก่ 1) อาหาร รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็มและอาหารรสจัด เพิ่มผัก และผลไม้ เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

สำหรับท่านที่อยู่ในช่วงอายุ 45-59 ปี ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ผักใบเขียวทุกชนิด นม ปลาเล็กปลาน้อย เป็นต้น เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน และเพิ่มอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน เช่น ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ ฟักทอง ข้าวกล้อง และควรลดอาหาร ประเภท แป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ 2) ออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายหรือกายบริหารทุกวันหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 45-59 ปี การเคลื่อนไหวและออกกำลังกาย ที่เหมาะสมคือ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน รำมวยจีน ว่ายน้ำ โยคะ เพราะเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก โดยเฉพาะข้อเข่าเพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้น จนเป็นสาเหตุของข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร และ 3) อารมณ์ ให้มองโลกในแง่ดี ยอมรับความเป็นจริง มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสภาพแวดล้อม อาจใช้หลักธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สร้างสัมพันธภาพที่ดีให้กับบุคคลในครอบครัว

“ทั้งนี้ การเตรียมสะสมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุและประมาณการรายรับ-รายจ่าย ในแต่ละเดือน จะช่วยลดปัญหาและภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัย จัดบ้านและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับลูกหลานและญาติควรให้ความสำคัญกับผู้เกษียณอายุเพราะถือเป็น ผู้สูงอายุประจำบ้าน ควรหาเวลาเพื่อพบปะหรือโทรศัพท์ถามทุกข์สุขก็จะช่วยให้ผู้เกษียณ ไม่เหงาและเกิดภาวะซึมเศร้า”

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ