แนะวัยทำงาน กับเทคนิคสร้างสุข 10 วิธี

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ


แนะวัยทำงาน กับเทคนิคสร้างสุข 10 วิธี thaihealth


แฟ้มภาพ


          กรมสุขภาพจิต เผย วัยทำงาน เป็นกลุ่มเกิดความเครียดสูงโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สูงอันดับ 1 กว่าแสนสาย มากสุด 3 อันดับ คือ กินยารักษาป่วยทางจิตใจ เครียดวิตกกังวล สารเสพติด จับมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดูแล แนะเทคนิคสร้างสุขรายวัน 10 วิธี


นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงสุขภาพจิตของวัยทำงาน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวัยอื่น ขณะนี้มี 38 ล้านกว่าคนทั่วประเทศ ประมาณร้อยละ 70 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ที่เหลืออยู่ในภาคเกษตรกรรม วัยทำงานนี้ เป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดความเครียด ทั้งจากการทำงาน ครอบครัว เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญทำให้เกิดการเจ็บป่วยโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และปัญหาติดสุรา ใช้สารเสพติด การใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น


          จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ให้บริการปรึกษาปัญหาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2558-2560 พบว่าผู้ใช้บริการมากที่สุดคือกลุ่มวัยทำงาน อายุ 22-59 ปี จำนวน 105,967 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 62 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด 169,728 ครั้ง อันดับ 1 ร้อยละ 36 คือเรื่องการกินยารักษาอาการป่วยทางจิตใจ, อันดับ 2 ร้อยละ 28 คือความเครียดหรือวิตกกังวล เช่นกังวลเกี่ยวกับอนาคต เรื่องคนอื่น เรื่องทั่วๆ ไป, อันดับ 3 ร้อยละ 10 เรื่องปัญหาสารเสพติด


          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในการส่งเสริมให้วัยทำงานมีความสุขทั้งการทำงานและชีวิตครอบครัว กรมสุขภาพจิต ได้บูรณาการทำงานร่วมกันหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขในโครงการ “วัยทำงานปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข” ดูแลวัยแรงงาน ครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย ใจ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลการศึกษา พบว่าการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย จะช่วยส่งเสริมให้วัยแรงงานมีความสุข นำไปสู่การเพิ่มผลผลิต และประสิทธิภาพในการทำงานได้ถึงร้อยละ 12-20 ส่งผลให้เกิดความผูกพันต่อองค์กร ที่ผ่านมามีสถานประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วเกือบ 3,000 แห่ง ในปีนี้ จะขยายความร่วมมือกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และกรมควบคุมโรค โดยจะลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ในเดือนนี้ ได้มอบหมายให้สำนักส่งเสริมสุขภาพจิตเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ


          ทางด้าน นางสุดา วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในความร่วมมือดังกล่าวนี้ สำนักฯ จะสนับสนุนด้านวิชาการ องค์ความรู้ต่างๆ ให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของสถานประกอบการ เช่น เทคนิคการสร้างสุข การคลายเครียด แบบคัดกรองและประเมินสุขภาพจิต เพื่อให้จัดระบบปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตให้วัยแรงงานกลุ่มเสี่ยงของหน่วยงานในเบื้องต้นได้ เช่น ผู้ที่สูญเสียบุคคลในครอบครัว ทรัพย์สิน มีหนี้สิน เจ็บป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02-590-8235 และ 02-5908168


          ในส่วนของประชาชน สามารถสร้างความสุขง่ายๆ รายวันให้แก่ตนเองในการทำงาน มีข้อแนะนำ 10 ประการดังนี้


          1. ทบทวนถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ชื่นชมข้อดีของตนเองและผู้อื่น พร้อมเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสุข 2. มีอารมณ์ขันและส่งยิ้มให้กันอยู่เสมอ 3. กล่าวคำขอบคุณให้เป็นนิสัย และขอโทษเมื่อทำผิด 4. ตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข และลงมือทำให้สำเร็จ 5. หยุดคิดเล็กคิดน้อย ยอมรับข้อบกพร่องของผู้อื่น 6. จัดสรรเวลาให้สมดุล ตามหลัก 8-8-8 คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง เวลาที่เหลืออีก 2 ส่วน คือ การนอนหลับ และให้เวลากับครอบครัว 7. ใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน ช่วยคลายความเครียด นอนหลับดีขึ้น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุราและสารเสพติด 8. ออฟไลน์ออกจากโลกโซเชียล แล้วหันมาพูดคุย ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนใกล้ชิดและคนรอบข้าง 9. ทำงานอดิเรกที่ชอบหรือทดลองทำอะไรใหม่ๆ และ 10. ยึดหลักความพอเพียงในการดำเนินชีวิต พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ผลวิจัยยืนยันว่า คนทำงานที่มีความสุขจะเพิ่มผลผลิตมากกว่าคนทำงานที่ไม่มีความสุข ถึงร้อยละ 20


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code