แนะยึดหลัก ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด ป้องกันไข้หวัดใหญ่

ที่มา : กรมควบคุมโรค


แนะยึดหลัก ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด ป้องกันไข้หวัดใหญ่ thaihealth


เเฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศแปรปรวน ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย แนะประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ระวังป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ขอให้ยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่แปรปรวน อากาศร้อนสลับฝนตก ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตนเอง รวมทั้งดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ


สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 มีนาคม 2564 พบผู้ป่วย 3,981 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบมากที่สุดในเด็กแรกเกิด-4 ปี รองลงมาคือ อายุ 25-34 ปี และ 15-24 ปี ตามลำดับ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี พิษณุโลก สุโขทัย กระบี่ และพังงา ตามลำดับ


จากข้อมูลของโรคไข้หวัดใหญ่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 และ 2563 ที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยลดลงจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีการติดต่อในลักษณะเดียวกัน ทำให้ประชาชนดูแลตนเองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 โดยสวมหน้ากากผ้า 100% ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง แยกของใช้ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ซึ่งมาตรการป้องกันโรคดังกล่าว ยังส่งผลให้พบผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องต่อไป


นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรค เช่น แก้วน้ำ ลูกบิดประตู เป็นต้น สำหรับอาการของโรคจะคล้ายไข้หวัด แต่จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ อ่อนเพลีย แต่สามารถหายเองได้ใน 5-7 วัน ดังนั้นหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์ทันที และขอให้ประชาชนยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ได้แก่ ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม โดยใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น ลูกบิด ราวบนรถโดยสาร เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น และ หยุด คือเมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ


สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีนี้ กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยจะเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคมถึง 31 สิงหาคม 2564 จำนวน 6.4 ล้านโดส ในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี  3.ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน)  4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป  5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)  และ 7.โรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) นอกจากนี้ ได้เตรียมวัคซีน จำนวน 4 แสนโดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย


โดยประชาชนในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว สามารถจองสิทธิและนัดหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนล่วงหน้าได้ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 โดยผ่าน 4 ช่องทาง คือ 1.สายด่วน สปสช. โทร. 1330  2.หน่วยบริการประจำหรือโรงพยาบาลในระบบบัตรทอง 3.Line @UCBKK สร้างสุข (เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองหรือพักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร) และ 4.แอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” เมนู Health Wallet หรือกระเป๋าสุขภาพ (เฉพาะผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค) และเข้ารับการฉีดระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 สิงหาคม 2564  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Shares:
QR Code :
QR Code