แนะมาตรการป้องกันโรคมือเท้าปาก

แนะมาตรการป้องกันโรคมือเท้าปาก thaihealth


“กรมควบคุมโรค” แนะศูนย์เด็กเล็กปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก หลังพบผู้ป่วยกว่า 2.4 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 1-3 ปี


นายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสภาพอากาศในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีความชื้นสูง เหมาะแก่การเจริญของเชื้อโรคต่างๆ โรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้คือโรคมือ เท้า ปาก โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ ประกอบกับขณะนี้อยู่ในช่วงเปิดเทอม โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสเกิดการระบาดของโรคนี้ได้ง่าย จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 17 สิงหาคม 2558 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 24,188 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยอายุที่พบมากที่สุดคือ 1 ปี (28.08 %) รองลงมาคืออายุ 2 ปี (25.93 %) และอายุ 3 ปี (17.91 %) ตามลำดับ และพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,155 ราย โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ น่าน ลพบุรี อุบลราชธานี พะเยา และเชียงราย ตามลำดับ ซึ่งจากข้อมูลเฝ้าระวังเหตุการณ์ทั้งหมด มีเหตุการณ์สะสมโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 16 เหตุการณ์ ใน 10 จังหวัด คือ นนทบุรี อุดรธานี ชลบุรี เชียงใหม่ สระบุรี เชียงรายร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ตาก และ กรุงเทพฯ


นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า โรคมือ เท้า ปาก จะติดต่อจากการได้รับเชื้อทางปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการ ไอ จาม รดกัน โดยอาการของโรคจะเริ่มด้วยอาการไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปากและเบื่ออาหาร มีแผลอักเสบ ที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม อาจเกิดตุ่มผื่นแดง ไม่คันที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น หรือหัวเข่า แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ โดยทั่วไปอาการจะดีขึ้นและสามารถหายเป็นปกติได้ภายใน 7-10 วัน แต่หากเด็กมีอาการแทรกซ้อนเช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ ต้องรีบนำเด็กกลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที


ในด้านการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล ปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้ 1. ตรวจคัดกรองเด็กเป็นประจำทุกวันในตอนเช้า 2. แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ โดยให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน 3. หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กป่วยเล่นคลุกคลีกับเด็กปกติและเมื่อป่วยควรพักรักษาอยู่ที่บ้าน 4. ให้เด็กล้างมือบ่อยๆหรือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรกปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องส้วม ก่อนและหลังทำกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ 5. ทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องมือ ของใช้ ของเล่น ภายในศูนย์ฯ และโรงเรียนเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกครั้งที่พบมีเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก 6. หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านทันที ส่วนในกรณีที่เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดหากพบตุ่มในปากโดยยังไม่มีอาการอื่น ให้เด็กหยุดเรียนอยู่บ้านได้เลยและหากพบเด็กป่วยเป็นจำนวนมาก ควรพิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย หรือปิดโรงเรียนระดับชั้นเด็กเล็ก


“สำหรับการรักษา โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาชาแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ป่วยควรนอนพักผ่อนให้มากๆ ผู้ดูแลควรเช็ดตัวให้เด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ ไม่ร้อนจัด ดื่มน้ำ นม และน้ำผลไม้แช่เย็น เพื่อช่วยลดอาการเจ็บแผลในปาก ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด อย่างไรก็ตามโรคนี้มักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวปิดท้าย


 


ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ขอบคุณภาพประกอบจาก http://bit.ly/1HXvRn7

Shares:
QR Code :
QR Code