แนะพ่อแม่ควรพัฒนาเด็กอย่างสมดุลทั้งกายใจ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
แนะแนวทาง แก้วิกฤติเด็กปฐมวัย ห่วงเด็กไทยถูกพัฒนาในทางที่ผิด เร่งแก้ไข 4 ค่านิยมร้ายของพ่อแม่ และให้ความรู้ ในการดูแลอย่างถูกต้อง ก่อนสายเกินแก้
สมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดงานแถลงข่าว "วิกฤติปฐมวัย กระทบอนาคตชาติ" โดยมี ดร.สายสุรี จุติกุล รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติอาจารย์จินตนา ธรรมวานิช นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่ง ประเทศไทยฯ และพญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมพูดคุยและเปิดเผย ถึงสภาวะเด็กไทยในปัจจุบัน พบว่า "เด็กไทยในปัจจุบัน มุ่งเน้นแต่การพัฒนาไอคิว ไม่เปิดโอกาสให้สำรวจ ลงมือทำ ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ขาดการเรียนรู้ทักษะชีวิต ไม่มีวินัย ขาดความยับยั้งชั่งใจ ฯลฯ ปฐมวัยถือเป็นช่วงวัย ที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์ เพราะเป็นช่วงที่ สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นจุดเริ่มต้น ของการเรียนรู้ทักษะสำคัญต่างๆ ที่จะเป็นรากฐานของพัฒนาการในวัยต่อไป ซึ่งทางคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯต้องการจุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกภาคส่วน มองเห็นปัญหาสำคัญ เพื่อหาทางแก้ไข สร้างแนวทางในการ พัฒนาเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม และทำให้เด็กไทย ของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต"
อาจารย์จินตนา ธรรมวานิช นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยฯกล่าวถึงมุมมองเรื่องวิกฤติเด็กปฐมวัยว่า "สภาพสังคมไทยปัจจุบัน เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น มีลูกน้อยลง พ่อแม่จึงตั้งเป้ากับความสำเร็จของลูกไว้มาก พร้อมทุ่มเททุกอย่าง" โดยคณะผู้ศึกษาเอกสารและสังเคราะห์งานวิจัยวิกฤติเด็กไทยพบว่าค่านิยมร้าย 4 อย่าง ของพ่อแม่ที่ส่งผลกระทบถึงการพัฒนาวินัยของเด็กในระยะยาวได้แก่
1) ค่านิยม"ลูกต้องมีอนาคตที่ไกลสดใส (กว่าพ่อแม่)" พ่อแม่ผลักดันเด็กด้วย ความคาดหวังให้ลูกเป็นคนเก่งฉลาดกว่าคนอื่น ซึ่งอาจทำให้เด็กเติบโตเป็นคนเก่งฉลาดแต่ ไร้วินัย ค่านิยมนี้ส่งผลให้พ่อแม่เร่งเด็กทางด้าน วิชาการไม่ส่งเสริมในเรื่องอื่นๆ ทำให้เด็กขาดโอกาสในการพัฒนาการมีวินัย รวมทั้งทักษะ ที่สำคัญอื่น เช่น ความคิดสร้างสรรค์ทักษะทางอารมณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมเมื่อเด็กเติบโตขึ้น
2) ค่านิยม"ลูกเป็นหน้าตาของพ่อแม่" ยุคนี้ความสำเร็จของลูกกลับเป็นทั้ง ความภาคภูมิใจและความเป็นหน้าตาทางสังคม ของพ่อแม่ พ่อแม่มักขีดเส้นทางให้ลูกเดิน มีการตีกรอบและข้อตกลงที่เคร่งครัด เมื่อเด็กเติบโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจ ในตนเอง หวาดระแวง มีความเครียดและวิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า ไม่รู้จักการแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะออกนอกลู่นอกทางถ้ามีโอกาส
3) ค่านิยม "ลูกฉันเก่งไร้เทียมทาน" ปัจจุบันนี้แต่ละครอบครัวมีลูกน้อยลงและ มีลูกยาก พ่อแม่จึงรักและให้ความสำคัญกับลูกมาก ทำให้เกิดเป็นค่านิยมของการหลงลูก ผลักดันและชื่นชมในทุกสิ่งอย่างที่ลูกกระทำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไม่ เด็กกลุ่มนี้เมื่อเติบโตขึ้น จะกลายเป็นคนที่ขาดวินัย มีนิสัยปัดความ รับผิดชอบ ไม่ยอมรับความผิดของตนเองและชอบโทษคนอื่น
4) ค่านิยม "วัตถุทดแทนเวลาที่หายไป" ความกดดันทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องช่วยกันทำงานเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว พ่อแม่จึงมักชดเชยเวลาด้วยการตามใจลูกปรนเปรอลูกด้วยวัตถุ และไม่ได้รับการส่งเสริมในเรื่องวินัยหรือทักษะต่างๆ ซึ่งเด็กจะกลายเป็นคนว้าเหว่ขาดความอบอุ่นขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม รวมทั้ง อาจมีการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่น ติดยาเสพติดทะเลาะวิวาท
จะเห็นได้ว่า 4 ค่านิยมร้ายของพ่อแม่ ส่งผลกระทบต่อลูกอย่างคาดไม่ถึง ทำให้เด็ก มีปัญหาด้านพัฒนาการ พฤติกรรม และการเรียนรู้ ที่จะก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหา ครอบครัว และส่งผลต่อสังคมโดยรวม
ดังนั้น ทางสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สำนักบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การ มหาชน) ได้จัดทำเป็นหนังสือ "วิกฤติปฐมวัยไทย และแนวทางแก้ไข"และได้นำประเด็นวิกฤติสำคัญดังกล่าวมาจัดทำเป็นคู่มือแนะนำแนวทางปฏิบัติเล่มย่อยอีก 4 เล่ม ได้แก่ 1) การพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเป็นองค์รวม 2) การสร้างวินัยสำหรับเด็กปฐมวัย 3) การส่งเสริม ความสามารถทางภาษาเด็กปฐมวัย และ 4) การใช้สื่อเทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัย
สำหรับเนื้อหาในหนังสือ "วิกฤติปฐมวัยไทยและแนวทางแก้ไข" และคู่มือทั้ง 4 เล่มนี้ได้แนะแนวทางในการดูแลและพัฒนาเด็กอย่างเหมาะสมไว้ดังนี้ โดย พัฒนาเด็กอย่างเป็นองค์รวม คือพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกันอย่างสมดุลทั้งร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคม และสติปัญญา เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ เหมาะสมกับวัย และสอดคล้องกับสิ่งที่เด็กสนใจ มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ การสร้างวินัยสำหรับเด็กปฐมวัย ควรฝึกหัดตั้งแต่เด็ก ยังเล็กการเลี้ยงลูกแบบปกป้องตามใจอย่างไร้ขอบเขตขาดการอบรมสั่งสอน หรือการใช้วิธีลงโทษที่รุนแรง ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกด้านลบและต่อต้าน ควรหันมาใช้การสร้างสรรค์และใช้วินัยเชิงบวกแทน โดยพ่อแม่ควรให้ความใกล้ชิดอบอุ่น สร้างสัมพันธภาพอันดีให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ควรมีการวางกรอบกติกาปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ฝึกฝนจนเป็นกิจนิสัย อบรมและให้เหตุผลแก่เด็กในสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ รวมทั้งสอนให้เห็นคุณค่าของการ ปฏิบัติที่ถูกต้อง นอกจากนี้เนื้อหายังเน้น เรื่องการส่งเสริมทักษะอย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับวัย
และสุดท้ายสำคัญมากในยุคนี้ การเลือกสื่อเทคโนโลยี ใช้อย่างไรให้เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเลต คอมพิวเตอร์ ล้วนเป็นเทคโนโลยีอันเป็นประตูสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ แต่ไม่ใช่พี่เลี้ยงเด็ก การใช้เครื่องมือเป็นเพื่อนเล่น เพื่อให้ลูกเงียบ ไม่กวน แต่ขาดการใช้เวลาร่วมกับลูก จะส่งผลกระทบทางลบ ต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กได้ ส่งผลเสียต่อสุขภาพเพราะด็กไม่ได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกาย สมองไม่ได้รับการส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ดังนั้นพ่อแม่จึงควรให้ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีความจำเป็นเท่านั้นและเลือกใช้ให้เหมาะกับวัย จำกัดเวลาการใช้ ไม่ให้เด็กใช้สื่อเทคโนโลยีตามลำพัง และต้องไม่ใช้เพื่อทดแทนการเล่นและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
ซึ่งทางสมาคมอนุบาลศึกษาแห่ง ประเทศไทยฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือและคู่มือทั้ง 4 เล่มนี้ จะสามารถช่วยแนะแนวทางการดูแลเด็กปฐมวัย ให้แก่พ่อแม่ ครู และผู้ปกครอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการเด็กที่ ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป สำหรับผู้ปกครองหรือ โรงเรียนที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบดิจิทัลได้ที่ www.preschool.or.th"