แนะผู้สูงอายุ กินดี มีประโยชน์ เสริมภูมิคุ้มกันภัยหนาว
กรมการแพทย์ เผยห่วงใยสุขภาพผู้สูงอายุ แนะใส่ใจสุขภาพตนเองในช่วงอากาศหนาว พร้อมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ต่อร่างกายเสริมภูมิคุ้มกันภัยหนาวได้
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อุณหภูมิที่ลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ในระยะนี้ ทำให้อากาศหนาวเย็นลง จึงขอแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะอุณหภูมิของอากาศ ที่หนาวเย็นจะส่งผลต่อร่างกาย ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดและ ไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบติดเชื้อได้จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในฝูงชน หรือสถานที่แออัด และพบปัญหาเรื่องผิวหนัง
เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย จึงมีแนวโน้มที่ผิวหนังจะสูญเสียความชุ่มชื้นได้ง่าย ควรทาโลชั่นหลังอาบน้ำทุกครั้ง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง สำหรับผู้สูงอายุบางรายที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากการรับประทานอาหารดังกล่าวจะทำให้หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบปัญหาโรคปวดข้อ ซึ่งอากาศหนาว จะกระตุ้นให้โรคข้ออักเสบ เช่นโรคเกาต์มีอาการรุนแรงขึ้นได้ จึงควรรักษาความอบอุ่นให้ร่างกายอยู่เสมอ
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุ ควรดูแลสุขภาพในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ดังนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่ให้ความอบอุ่นร่างกายแต่ให้ปริมาณไขมันที่ไม่สูงเกินไป ได้แก่ อาหารประเภทที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา สัตว์ปีก และ เนื้อไม่ติดมันเพราะร่างกายสามารถย่อยได้ง่าย นอกจากนี้ควรรับประทานผลไม้สด เช่น กล้วยน้ำว้า ส้ม มะละกอ ฝรั่ง แก้วมังกร แอปเปิ้ล มากกว่าการดื่มน้ำผลไม้ เพราะจะให้เส้นใยอาหารมากกว่า และธัญพืชที่มีกากใยอาหารสูงได้แก่ พืชตระกูลถั่ว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวมันปู สมุนไพรไทยที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง พริก พริกไทย กระเทียม เหล่านี้ล้วนเป็นอาหารที่มีรสจัดช่วยทำให้เลือด มีการไหลเวียนดีขึ้น ที่สำคัญผู้สูงอายุควรดูแลรักษาให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
โดยเริ่มจากการรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ สวมใส่เสื้อผ้าที่มีความหนาเพียงพอ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย ดื่มน้ำอุ่น วันละ 6-8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมงขึ้นไป ในช่วงเวลากลางคืน ต้องห่มผ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเมื่อรู้สึกว่าตนเองมีความผิดปกติของร่างกาย นอกจากนี้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด การให้ความรักของคนในครอบครัว บุตรหลาน จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตแจ่มใส ร่างกายแข็งแรงตามไปด้วย สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่
ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข