แนะผู้สูงอายุดื่มน้ำให้เพียงพอ เลี่ยงอยู่กลางแจ้งช่วงหน้าร้อน

         /data/content/23796/cms/abdekqvw3567.jpg

         แพทย์เตือนผู้สูงอายุรับมืออากาศร้อนจัดแนะให้อยู่ในที่ร่ม หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

         นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงนี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งสิ่งที่ผู้สูงอายุควรระมัดระวังในหน้าร้อน คือ การดื่มน้ำให้พอเพียง การป้องกันสายตาและผิวหนังจากแสงแดดจ้าในการทำกิจกรรม ที่อยู่กลางแจ้งนาน ๆ และการปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ด้วยการดื่มน้ำให้พอเพียง เพื่อทดแทน เหงื่อ ลมหายใจ ปัสสาวะ อุจจาระที่ขับถ่ายแต่ละวัน โดยปกติควรดื่มน้ำวันละประมาณ 6-8 แก้ว (ประมาณ 1,400 – 1,900 ซีซี) แต่ถ้ามีการออกกำลังกาย อยู่กลางแดดร้อนอาจดื่มมากกว่านี้ และควรควบคุมการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำหวาน น้ำอัดลม การดื่มบ่อย ๆ หรือมากครั้ง จะขับปัสสาวะ  ทำให้ศูนย์เสียน้ำจากร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ส่วนการดื่มเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ ไม่มีความจำเป็น ถ้าไม่เสียเหงื่อมากจากการออกกำลังกายหรือมีอาการท้องเสีย

          นอกจากนี้การป้องกันสายตา ควรหลีกเลี่ยงการมองแดดจ้านาน ๆ หรือควรสวมแว่นกันแดดเพื่อป้องกันสายตาและลมฝุ่นผงที่มีมากในหน้าร้อน รวมทั้ง ป้องกันการเกิดต้อเนื้อ เยื่อบุตาอักเสบ แผลที่กระจกตา และต้อกระจก ที่เป็นผลจากแสงอัลตร้าไวโอเลต (UV) ได้ สำหรับการป้องกันผิวหนังจากแดดจัดคือการทาครีมกันแดด SPF 30/50 หรือมากกว่านั้น ควรเลือกที่ไม่เหนอะหนะและควรทดสอบการแพ้ที่บริเวณท้องแขนผู้สูงอายุก่อนทาในบริเวณกว้าง ไม่ควรทายากันแดด 2 ยี่ห้อในเวลาเดียวกัน หรือติดต่อกันอาจเกิดปฏิกิริยาของสารเคมีทำให้เกิดการแพ้ได้ง่ายขึ้น ไม่ควรทารอบบริเวณตาหรือคิ้ว เพราะอาจเข้าตาได้เมื่อเหงื่อออก ควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังที่ต้องสัมผัสแสงแดดนาน ๆ ซึ่งผิวหนังของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนแปลงตามวัยและไวต่อแสงแดดมากกว่าวัยหนุ่มสาว เกิดผื่นคัน เกิดผิวหนังไหม้ ทำให้เป็นแผล มีการติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียได้ง่าย 

          ทั้งนี้ การให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสแสงแดดระยะสั้น ๆในช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็นประมาณ 10-15 นาที ร่างกายจะผลิตวิตามิน D ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) ซึ่งมีอยู่ในแสงแดด และเนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายจึงเก็บสะสมวิตามินดีได้และมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถป้องกันโรค โดยเฉพาะภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรงในวัยผู้สูงอายุได้

 

 

          ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code