แนะผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs กินยาตามแพทย์สั่ง เพื่อผลดีต่อสุขภาพ

ที่มา : แนวหน้า

 

แนะผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs กินยาตามแพทย์สั่ง เพื่อผลดีต่อสุขภาพ thaihealth

 

แฟ้มภาพ

 

แพทย์แนะนำกลุ่มผู้ป่วยโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ควรรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง สำหรับการสั่งยาต่าง ๆ ให้กับผู้ป่วยนั้น แพทย์จะพิจารณาโดยคำนึงประโยชน์และผลเสียจากยาเสมอ โดยหวังให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์จากยามากที่สุดและเกิดผลเสียให้น้อยที่สุด

 

ศาสตราจารย์ นพ.วินัย วนานุกูล ประธานอนุกรรมการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรค “NCDs” หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็น กลุ่มของโรคประกอบด้วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันเลือดสูง อ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด ถุงลม โป่งพองและมะเร็ง ใน 4 โรคแรกนั้นเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นหลัก หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะนำมาสู่การเป็นโรคร้ายแรงต่อไปและเสียชีวิตได้ การรักษา ที่สำคัญในเบื้องต้นคือการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย ลดความเครียดและนอนหลับ ให้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แพทย์จึงต้องแนะนำให้ใช้ยาร่วมด้วย ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีความกังวลใจเกี่ยวกับการกินยารักษาโรคเหล่านี้เพราะได้ยินกันมาว่า “กินยานาน  ๆ แล้วจะเป็นโรคตับ โรคไต หรือ ตับไตจะเสียจากการกินยานาน  ๆ” คำพูดนี้เรามาพิจารณาดูกันว่าเป็นจริงมากน้อยเพียงใด?

 

ในความเป็นจริงแล้ว การที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูงและอ้วนลงพุงต่างหาก ที่หากไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว ก็จะสามารถทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง หรือเกิดภาวะไขมันพอกตับและตับแข็งในระยะเวลาต่อไปได้ ในปัจจุบันยารักษาโรคทั้งสามนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีกลไกการออกฤทธิ์ รวมถึงภาวะอันไม่พึงประสงค์แตกต่างกัน เราจะสามารถเหมารวมว่ามีผลเสียเหมือนกันหมดหรือไม่?

 

ยาและสารทุกชนิดในโลกนี้สามารถก่อให้เกิดผลเสียที่เราไม่ต้องการทั้งสิ้น แต่สารแต่ละชนิดก่อให้เกิดผลเสีย หรือภาวะอันไม่พึงประสงค์ที่แตกต่างกัน และมีอุบัติการณ์ที่ต่างกันด้วย บทความนี้ได้รวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับ ภาวะอันไม่พึงประสงค์ของยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันสูงที่ใช้ในปัจจุบัน โดยจำกัดที่ผลต่อตับและไตลงในตาราง โดยได้รวบรวมการศึกษาที่เป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของยาหลังจากยาออกวางจำหน่ายในท้องตลาดแล้วแล้ว (Post marketing surveillance) จึงเป็นการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนมาก และมีความน่าเชื่อถือสูง

 

การสั่งยาต่าง  ๆ ให้กับผู้ป่วยนั้น แพทย์จะพิจารณาโดยคำนึงประโยชน์และผลเสียจากยาเสมอ โดยหวังให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์จากยามากที่สุดและเกิดผลเสียให้น้อยที่สุด หลังสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วย แพทย์หรือเภสัชกรจะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับยา นัดผู้ป่วยมาติดตามผลการรักษาและมีการเฝ้าระวังผลเสียหรือภาวะอันไม่พึงประสงค์ของยาที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ต่อไป ในส่วนของผู้ป่วยเองก็ควรรับประทานยาให้ตรงตามที่แพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเกิดจากยา หรือได้รับยาหรืออาหารเสริมนอกเหนือจากที่ได้รับจากแพทย์ ก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยทุกครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา

 

โดยสรุป ยาแต่ละชนิดแต่ละกลุ่ม มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่ต่างกัน ไม่ควรเหมารวมไปทั้งหมด การกินยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันเลือดสูงนาน  ๆ มีโอกาสเกิดผลเสียต่อตับหรือไตไม่มาก แต่กลับจะได้ประโยชน์มากกว่า ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง จะทำให้ได้ประโยชน์จากยาสูงสุดและ มีโอกาสเกิดผลเสียจากยาน้อยที่สุดด้วย

 

Shares:
QR Code :
QR Code