แนะผู้ปกครองระวังอุบัติภัยในเด็ก

ให้เหมาะกับช่วงวัย

 

 

          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ปกครองเรียนรู้วิธีป้องกันอุบัติภัยให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย โดยเฉพาะอุบัติภัยจากการจมน้ำ ห้ามปล่อยเด็กเล่นน้ำหรืออยู่ในบริเวณริมแหล่งน้ำตามลำพัง สอนให้เด็กว่ายน้ำเป็นจะได้มีทักษะในการช่วยเหลือตนเองอย่างปลอดภัย ส่วนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ควรให้เด็กสวมหมวกนิรภัยสำหรับเด็กที่มีขนาดพอดีกับศีรษะเด็ก  

 

 แนะผู้ปกครองระวังอุบัติภัยในเด็ก

          นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุบัติภัยในเด็ก มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนน และการจมน้ำ ซึ่งเด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการและพฤติกรรมแตกต่างกัน โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุภายในบ้านมากที่สุด เช่น พลัดตกหกล้ม น้ำร้อนลวก สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ ส่วนเด็กอายุ 614 ปี ประสบอุบัติเหตุทางถนนและการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ดังนั้น ผู้ปกครองควรเรียนรู้วิธีป้องกันอุบัติภัยในเด็กให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย ดังนี้

 

          การจมน้ำ เด็กอายุ 14 ปี มักจมน้ำเสียชีวิตในแหล่งน้ำบริเวณรอบบ้าน ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำ อาบน้ำ หรืออยู่ในบริเวณที่มีถังน้ำตามลำพัง แม้จะไปทำธุระในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ต้องนำเด็กไปด้วยเสมอ เพราะหากศีรษะเด็กทิ่มลงไปในน้ำ เด็กจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัย รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้ปลอดภัย ด้วยการปิดประตูห้องน้ำให้สนิท จัดให้มีฝาปิดหรือครอบภาชนะกักเก็บน้ำ ทำรั้วกั้นบ่อน้ำ ตลอดจนจำกัดพื้นที่ในการเล่นของเด็ก ไม่ให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำ เพราะเด็กอาจพลัดหรือลื่นตกน้ำ เด็กอายุ 517 ปี มักจมน้ำเสียชีวิตบริเวณแหล่งน้ำในชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น จะได้มีทักษะในการช่วยเหลือตนเองอย่างปลอดภัย มิให้เด็กลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่คุ้นเคย แม้เด็กว่ายน้ำเป็นก็ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด เพราะหากเด็กเป็นตะคริว หรือเกิดคลื่นดูด จะได้สามารถช่วยเหลือเด็กได้ทันท่วงที กรณีพาเด็กไปท่องเที่ยวทางน้ำ ควรให้เด็กสวมเสื้อชูชีพด้วยทุกครั้ง

 

          อุบัติเหตุทางถนน การเดินถนน จูงมือเด็กให้แน่น ให้เด็กเดินบนทางเท้าชิดด้านในถนนเสมอ เพื่อป้องกันการถูกรถเฉี่ยวชน การข้ามถนน พาเด็กข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย สะพานลอย บริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจรสำหรับคนข้าม หรือมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวก ก่อนข้ามถนน ให้มองซ้ายขวาให้แน่ใจเสียก่อนว่าไม่มีรถวิ่งมา จึงค่อยพาเด็กข้าม และห้ามมิให้เด็กหยอกล้อเล่นกัน หรือคุยโทรศัพท์ขณะข้ามถนน

 

          การโดยสารรถจักรยานยนต์ ให้เด็กสวมหมวกนิรภัยที่มีขนาดพอดีกับศีรษะเด็ก หากพาเด็กเล็กโดยสารรถจักรยานยนต์ ให้ระวังชายผ้าเกี่ยวเข้าไปในซี่ล้อรถ ทำให้เด็กตกจากรถได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ การโดยสารรถยนต์ ห้ามนำเด็กนั่งซ้อนตักขณะขับรถ เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถและการบังคับทิศทางพวงมาลัย หากประสบอุบัติเหตุ เด็กจะกระแทกพวงมาลัยหรือถุงลมนิรภัยเสียชีวิตได้ ควรจัดหาที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กที่มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและอายุของเด็กไว้ในบริเวณเบาะด้านหลังรถ หากเป็นเด็กโต ควรคาดเข็มขัดนิรภัยให้เด็กด้วย ในขณะเดินทางให้กดปุ่มล็อกกระจก เพื่อป้องกันเด็กยื่นศีรษะ แขน ขา ออกไปนอกรถ ทำให้ได้รับอันตราย ตลอดจนดูแล มิให้เด็กนั่งพิงประตูรถยนต์ และเล่นปุ่มล็อกประตู เพราะเด็กอาจพลัดตกจากรถเสียชีวิตได้

 

 

 

 

 

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

 

 

 

 

 

update : 06-01-54

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ