แนะผู้กำลังเกษียณอายุราชการ หมั่นประเมินความสุข
ที่มา: กรมสุขภาพจิต
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิต แนะนำผู้กำลังจะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายน นี้ ซึ่งมีจำนวนเกือบ 5 หมื่นคน หมั่นประเมินความสุขสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นช่วงปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต หากรู้สึกมีความสุขลดลง ควรใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้า เพื่อประเมินอาการและนำไปสู่การดูแลรักษาได้ทันท่วงที โดยสามารถดาวน์โหลดแบบประเมินได้ที่เวปไซด์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากตัวเลขประมาณการผู้เกษียณอายุราชการ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2561 มีถึง 49,475 คน ซึ่งการเกษียณอายุราชการ เป็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่สำคัญ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ที่อาจส่งผลให้ผู้เกษียณเกิดอาการ เศร้า เหงา เครียด และนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ทั้งนี้เพราะภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวช มักมีสาเหตุจากปัจจัยกระตุ้นทั้งทางกาย จิต และสังคม โดยการ ไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เป็นปัจจัยทางจิตสังคมสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ดังนั้นเพื่อการป้องกัน และเฝ้าระวังปัญหา กรมสุขภาพจิตขอแนะนำให้ผู้เกษียณทุกคนหมั่นประเมินความสุขสม่ำเสมอ หากรู้สึกมีความสุขลดลง ควรใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้า เพื่อประเมินอาการ โดยสามารถดาวน์โหลดแบบประเมินซึมเศร้าได้ที่เวปไซด์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th และหากพบมีภาวะซึมเศร้าจากการใช้แบบประเมินภาวะซึมเศร้าแบบ 2 คำถาม ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อประเมินซ้ำ และให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที
นอกจากนี้ผู้เกษียณ ควรเรียนรู้ และให้ความสำคัญกับความสำเร็จของตนเองในด้านการอยู่ดีมีสุข และ ความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งเป็นความรู้สึกของบุคคล ในการมองชีวิต ที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกันในแต่ละบุคคล เช่น การมีความรื่นรมย์ในชีวิต คือ การรู้จักหาความสุขในขณะนั้นๆ เป็นการมองไปข้างหน้าแล้วเห็นว่านั่นคือความสวยงาม การมีปัญญา คือ ไม่ปล่อยให้ใจเป็นลบ รู้จักมองหาข้อดีหรือประโยชน์จากเหตุร้ายๆที่อาจเกิดขึ้น การมีภูมิคุ้มกันความอดทน แกร่ง เข้มแข็งทางจิตใจ คือ มีความสามารถในการปรับตัว และฟื้นตัวกลับมาดำเนินชีวิต ตามปกติได้ภายหลังที่ พบเหตุการณ์รุนแรงหรือ ความยากลำบาก การประสานไมตรี คือการเป็นผู้ให้ ที่จะได้รับความสุข อิ่มเอิบใจ เป็นการประสานไมตรี เชื่อมโยงจิตใจเข้าหากัน ผู้ให้ก็มีความสุข อิ่มเอิบใจ ผู้รับยิ่งมีความสุข มีกำลังใจ
แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยาสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุว่า พบมากถึง 10-20 % ของประชากร และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการซึมเศร้าในผู้สูงอายุ มีตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย อารมณ์ไม่แจ่มใส ไปจนถึงรุนแรงมากจนกระทั่งเป็นโรคหรือมีอาการจิตเวชร่วมด้วย อาการเตือนของภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ได้แก่ สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไป เช่น เคยเป็นคนอารมณ์ดีก็เปลี่ยนเป็นหงุดหงิดง่าย มีเหตุผลน้อยลง ขี้บ่นมากขึ้น หรือสนใจในสิ่งที่เคยชอบลดลงจากเดิม รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าเบื่อหน่ายในการมีชีวิตอยู่ ไม่อยากร่วมกิจกรรม พูดน้อยลง ไม่ดูแลตัวเอง ไม่ยอมกินยา เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีปัญหาการนอนที่ผิดปกติ นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ หรือตื่นกลางดึก มีอาการความจำไม่ค่อยดี สมาธิสั้นลง มีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตัวเอง ทั้งนี้การรักษาโรคซึมเศร้าทีมีสาเหตุทางกาย จิตสังคม ต้องอาศัยการปรับตัวของคนรอบข้าง ให้ความเข้าใจและเอาใส่ใจ ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น น้ำหนักลดลง นอนไม่หลับ เริ่มมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย แพทย์อาจพิจารณารักษาโดยใช้ยาร่วมด้วย โดยเริ่มใช้ยาต้านเศร้าในระดับอ่อนๆ ก่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องกินยาไปตลอด สามารถลดยาลงจนอาจไม่ต้องใช้ยาเลยก็ได้ ดังนั้นควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง