แนะป้องกันโรคฉี่หนูหลังน้ำลด
ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
“กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” แนะผู้ประสบภัยป้องกันโรคฉี่หนูหลังน้ำลด ให้เลี่ยงการนำน้ำท่วมขังมาล้างเท้าล้างขา เนื่องจากเสี่ยงเชื้อฉี่หนู ขณะเดียวกันควรกำจัดขยะโดยเฉพาะเศษอาหาร ให้ใส่ถุงมัดปากให้มิดชิดหรือใส่ถุงขยะที่มีฝาปิด
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วงหลังน้ำลด เป็นช่วงของการฟื้นฟูบ้านเรือนและชุมชนให้กลับสู่สภาวะปกติ รวมทั้งเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังโรคที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังน้ำลด ที่สำคัญ คือ โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ซึ่งขณะนี้มีรายงานพบผู้ป่วยและเสียชีวิต 1 ราย ที่ จ.กระบี่ และจากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 1 -22 มกราคม มีผู้ป่วยโรคฉี่หนู 72 ราย จาก 21 จังหวัด เมื่อเปรียบเทียบต่อประชากรทุก 1 แสนคน พบว่าภาคใต้มีอัตราป่วยโรคนี้สูงที่สุด แสนละ 0.32 คน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบแสนละ 0.17 คน
ดังนั้น ในการป้องกันโรคฉี่หนูหลังน้ำลดทุกพื้นที่ กรม สบส.ได้ขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม.เร่งให้ความรู้ประชาชนทุกหลังคาเรือน ในการปฏิบัติตัวป้องกันโรคและให้รู้จักสัญญาณอาการเฉพาะของโรคฉี่หนู คือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหลัง น่อง ต้นคอ มีอาการไอ คลื่นไส้อาเจียน ตาแดง หากมีอาการที่กล่าวมา ขอให้นึกถึงโรคนี้และรีบแจ้ง อสม.หรือไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โรคนี้มียารักษาหายขาด แต่อาจมีการติดเชื้อซ้ำอีกได้ หากประชาชนปฏิบัติตัวป้องกันโรคไม่ดีพอ
นายแพทย์ประภาส กล่าวต่อว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่มาจากหนูทุกชนิด ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ หนูจะหนีน้ำมาหาที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารตามบ้านเรือน กองขยะ โดยเชื้อจะแพร่กระจายผ่านฉี่ของหนูสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะน้ำที่ขังเป็นแอ่งๆ พื้นดินโคลนแฉะๆ และจะเข้าสู่ร่างกายที่พบมาก คือ เข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนที่ผิวหนัง รวมทั้งผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานด้วย และจากอาหาร/น้ำดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อน ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการวักน้ำจากแอ่งน้ำท่วมขังมาล้างขา ล้างเท้า เนื่องจากในแหล่งน้ำประเภทนี้อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อน
ขอให้ใช้น้ำสะอาดชำระล้างแทน เช่น น้ำประปา หรือน้ำที่ผ่านการปรับสภาพและฆ่าเชื้อจากคลอรีนแล้ว หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลน ขอให้สวมรองเท้าบูท เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล และป้องกันไม่ให้บาดแผลหรือรอยขีดข่วนที่มีอยู่แล้วสัมผัสกับน้ำท่วมขัง และระมัดระวังอย่าให้มีน้ำขังในรองเท้าบูทที่ใส่ เพราะหากเท้าแช่น้ำเป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่ม เชื้อโรคฉี่หนูสามารถไชเข้าได้เช่นกัน
สำหรับการป้องกันโรคฉี่หนูทางอาหารและน้ำดื่ม ขอให้ประชาชนดื่มน้ำต้มสุก น้ำดื่มบรรจุขวด ดูแลปกปิดอาหารที่ปรุงแล้วให้มิดชิด เพื่อป้องกันหนูเข้าไปกินอาหาร และรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ
หากเป็นอาหารค้างมื้อให้นำไปอุ่นด้วยความร้อนให้เดือดก่อน ประการสำคัญขอให้เก็บกวาดขยะทั้งในและนอกบ้านเรือน โดยเฉพาะขยะประเภทเศษอาหาร ขอให้ใส่ถุง มัดปากถุงให้มิดชิดหรือใส่ในถังขยะที่มีฝาปิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู