แนะปฐมพยาบาล “โรคลมแดด”
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
ผอ.เขตบางคอแหลม เตือนผู้ที่อยู่อากาศร้อนจัดเป็นเวลานานๆ เสี่ยงเสียชีวิตได้ แนะสังเกตอาการ-วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดด
นางจิตรลดา ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น ผู้ที่มีความจำเป็นที่ต้องอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนติดต่อกันนานๆ หรือออกกำลังกายท่ามกลางความร้อนต้องพึงระวัง เพราะหากสูญเสียเหงื่อเป็นจำนวนมากแต่ไม่ได้รับการชดเชยน้ำอย่างเพียงพอ ก็อาจจะทำให้เป็นลมแดด (Heat Storke) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ อาการของโรคลมแดดมีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรก คือ แบบอ่อนๆ เช่น เวลาอยู่กลางแดดนานๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม แต่ยังรู้สึกตัวอยู่ซึ่งหากได้นั่งพักในที่ร่ม อากาศถ่ายเท หรือห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ดื่มน้ำเย็นหรือเช็ดตัว อาการก็จะดีขึ้น แบบที่สองคือ แบบรุนแรง ผู้ป่วยจะมีตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะเป็นลม ซึ่งในบางรายอาจเสียชีวิตได้
กลุ่มคนที่พบว่าเป็นโรคลมแดดส่วนใหญ่คือ ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานท่ามกลางแสงแดด ซึ่งในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงและอยู่ในวัยทำงานก็เป็นโรคนี้ได้ การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมแดด หากพบผู้ที่บ่นว่าร้อน คลื่นไส้ เวียนศีรษะ มีเหงื่อออกผิดสังเกต มีอาการงง พูดช้าลงเลอะเลือน การเคลื่อนไหวช้าลง โซเซ ควรพาผู้ป่วยไปพักในที่ร่มทันที เปิดเครื่องปรับอากาศและใช้น้ำเย็นเช็ดตัวให้ผู้ป่วยเนื่องจากอาการในช่วงนี้จะนำไปสู่อาการแบบรุนแรงอย่างรวดเร็ว และควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ทั้งนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือป้องกัน หากรู้ว่าตนเองต้องออกไปอยู่กลางแดดก็ควรสวมเสื้อสีอ่อนๆแขนยาว สวมหมวก ใส่แว่นตากันแดด และควรทาครีมกันแดดด้วย เพราะนอกจากแสงแดดจะเป็นสาเหตุของโรคลมแดดแล้วยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังอีกด้วย