แนะนำคนไทยจัดเวลาค้นหาสุข
กรมสุขภาพจิต แนะคนไทยจัดเวลาค้นหาความสุขสำหรับตัวเองและครอบครัว อย่าก้มหน้ามองแต่โทรศัพท์มือถือ-ทีวี ชี้ในวันความสุขสากล 20 มี.ค. เลือกทำกิจกรรมง่าย ๆ ด้าน สำนักสถิติ เผย ผู้สูงอายุที่อ่านหนังสือจะมีสุขภาพจิตดีกว่าไม่อ่านหนังสือ ยิ่งอยู่โดดเดี่ยวยิ่งแย่
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศให้วันที่ 20 มี.ค.ของทุกปีเป็นวันความสุขสากล เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องความสุข และพัฒนาประเทศให้มีความสมดุลไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ในส่วนของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญมานาน จากผลการจัดอันดับความสุขของ 156 ประเทศทั่วโลกพบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 52 เนื่องในวันความสุขสากล ขอเชิญชวนคนไทยจัดเวลาค้นหาความสุขสำหรับตัวเองและครอบครัว เลือกทำกิจกรรมความสุขด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น ออกกำลังกาย ฝึกการหายใจ ทำกิจกรรมจิตอาสา ใช้เวลาอยู่ด้วยกันในครอบ ครัว โดยไม่ต้องก้มหน้ามองแต่โทรศัพท์มือถือ หรือมองหน้าจอทีวี ไม่ปล่อยให้เทคโนโลยีมาทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอ่อนแอลง
น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ รอง ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสำรวจเมื่อปี 55 ในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กว่า 8 หมื่นคน พบว่าคะแนนเฉลี่ยและอันดับสุขภาพจิตจำแนกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีสุขภาพจิตดีที่สุด 5 อันดับแรก คือ นครพนม พิจิตร ตรัง ชัยภูมิ กระบี่ ส่วนจังหวัดที่มีสุขภาพจิตต่ำสุด 5 อันดับ คือ สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สระแก้ว ภูเก็ต และหนองคาย ส่วนกรุงเทพฯคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ลำดับที่ 65 ทั้งนี้ในปี 53 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุประมาณ 13% ถือว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว คาดว่าในปี 2583 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 83% อย่างไรก็ตามแม้ผู้สูงอายุจะมีสุขภาพจิตต่ำสุดแต่ยังอยู่ในระดับมาตรฐาน ผู้สูงอายุที่อ่านหนังสือมากจะมีสุขภาพจิตดีกว่าไม่อ่านหนังสือ ผู้สูงอายุที่มีเงินออมจะมีสุขภาพจิตดีกว่าไม่มีเงินออม และคนที่อยู่ตามลำพังคนเดียวสุขภาพจิตต่ำ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการสำรวจความพึงพอใจในการใช้ชีวิตของคนไทยโดยแบ่งเป็นกลุ่มพบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับดี คือ 7.5 จากคะแนนเต็ม 10 แต่เมื่อแยกเป็นกลุ่มประชาชนพบว่า ผู้ที่มีรายได้ต่ำ การศึกษาต่ำ ทำให้ความพึงพอใจในชีวิตต่ำลง ดังนั้นควรส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ทุกเพศ ทุกวัย รวมไปถึงการให้ความสำคัญเรื่องการจัดสรรเวลา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ขณะที่ นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้สูงอายุจะมีความสุขถ้าไม่ป่วย มีเงินออม มีความสัมพันธ์ที่ดีภายในบ้านและชุมชน ได้ทำประโยชน์เป็นผู้ให้และเข้าวัดเข้าวา ปฏิบัติธรรม
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์