แนะนักวิ่งเช็กร่างกายให้พร้อมก่อนลงสนาม
ที่มา : คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
กีฬาวิ่งมาราธอนยังคงเป็นที่นิยมอย่างมากที่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย เลือกใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะออกกำลังกาย ประกอบกับทั้งภาครัฐ เอกชน ก็มีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้อยู่เป็นประจำภายใต้โครงการต่างๆ และก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักวิ่งมาราธอนมืออาชีพและมือสมัครเล่น
หากกล่าวถึงการดูแลสุขภาพ เตรียมความพร้อมร่างกายก่อนลงสนามของนักวิ่งมืออาชีพนั้น ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะส่วนมากจะมีการดูแลสุขภาพ ความพร้อมของร่างกายเป็นอย่างดี แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ นักวิ่งมือสมัครเล่น ที่ยังไม่มีการเตรียมความของร่างกาย ประกอบมาราธอนเป็นการวิ่งแบบทางไกล จึงไม่แปลกที่นักวิ่งบางรายอาจจะมีอาการเหนื่อยหอบ จนถึงขั้นช็อกหมดสติ นี้เป็นภัยอันตรายเงียบที่ทุกคนอาจมองข้ามเพราะคิดว่าความแข็งแรงของร่างกายตนเองนั้นสามารถรับมือได้กับระยะทางและความเหนื่อยจากการวิ่งมาราธอน
จนล่าสุดเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นระหว่างที่นักวิ่งรายหนึ่ง คือ นายสรรเสริญ อ่อนน้อม อายุ 54 ปี เกิดอาการหมดสติขณะกำลังวิ่งอยู่ในสวนหลวง ร.9 เพื่อร่วมโครงการเพื่อผู้พิทักษ์ปี 3 "ชีวิตของข้า เพื่อป่าของไทย ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร" ก่อนจะมีผู้บันทึกภาพวิดีโอพร้อมระบุข้อความว่า "นาทีชีวิต ทีมกู้ภัยและหมอล็อตช่วยกันทำ CPR" เพื่อช่วยเหลือชายคนหนึ่งที่หมดสติและไม่หายใจ" จนมีการแชร์อย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์
ทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ สพฉ. โดยร.อ.น.พ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ.ต้องรีบออกมาให้คำแนะนำว่า ก่อนออกกำลังกาย ไม่ว่าจะวิ่งมาราธอน ปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นกีฬาที่มีระยะทางไกล หรือเล่นกีฬาอื่นก็ตาม ผู้เล่นควรปรึกษาแพทย์ถึงความพร้อมภายในร่างกาย ซึ่งช่วงเริ่มแรกของการออกกำลังกายนั้น ควรซ้อมเบาๆ ไม่หักโหม และหยุดพักเมื่อรู้สึกว่าเริ่มมีอาการเหนื่อยล้าหรือแน่นหน้าอก
สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นอีกโรคหนึ่งที่ เลขาธิการ สพฉ.ให้คำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะมีสมรรถนะของร่างกายลดลง เพราะจะมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และการบีบตัวให้เลือดออกจากหัวใจแต่ละครั้งได้ปริมาณน้อยลง ทำให้ปริมาณเลือดที่หัวใจส่งไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง เป็นผลให้ปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายนำไปใช้ลดลงด้วย จึงควรจะออกกำลังกายในระดับปานกลางที่ไม่ใช่พลังงานในร่างกายสูงมาก เช่น เต้นแอโรบิก ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ ปิงปอง เทนนิส กอล์ฟ เป็นต้น
ร.อ.นพ.อัจฉริยะยังให้ความรู้เกี่ยวกับบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วนคือผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคความดัน เบาหวาน หัวใจ ต้องปรึกษาแพทย์และวอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง หากระหว่างที่อยู่ในช่วงเวลาออกกำลังกายรู้สึกวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เจ็บหน้าอก ให้รีบหยุดและพบแพทย์ทันที
ด้าน นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต นายแพทย์ที่เข้าให้การช่วยเหลือนายสรรเสริญขณะหมดสติระหว่างการวิ่งครั้งนี้ กล่าวว่า "กรณีการวิ่งมาราธอน ถ้าเป็นไปได้ควรให้มีการยืดหยุ่นเรื่องเวลา เช่น ควรสตาร์ทสัก 7-8 โมงเช้า เป็นต้น เพราะทุกวันนี้มีการเริ่มสตาร์ทที่เวลา 04.00-05.00 น. จึงทำให้ผู้ที่ร่วมกิจกรรมวิ่งดังกล่าวมีการพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะหากมีการเริ่มวิ่งในเวลา 05.00 น. นักวิ่งทั้งหลายต้องตื่นเพื่อเตรียมตัวก่อนประมาณช่วง 02.00 น. ทำให้ผู้มาวิ่งพักผ่อนนอนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าแข่งขันเป็นลมล้มหมดสติ"
ดังนั้นไม่ว่าท่านจะเลือกออกกำลังกายในลักษณะใด ต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายให้เต็มที่ และประเมินสุขภาพร่างกายของตัวเองว่าเหมาะสมที่จะออกกำลังกายชนิดใดเพื่อให้ได้ผลดีกับตัวเองมากที่สุด และที่สำคัญที่สุดต้องออกกำลังกายในระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดกับร่างกายเพื่อป้องกันการเหนื่อยมากเกินไปจนเกิดอาการเป็นลมหมดสติ